คำวินิจฉัยที่ 16/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๕๒

วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ นายประเสริฐ ฉัตรตระกูล ที่ ๑ นางนงนุช ฉัตรตระกูล ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง พันตรี ทินกร นพคุณ ที่ ๑ พลเรือตรี พจนา เผือกผ่อง ที่ ๒ กรมยุทธศึกษาทหารบก (ที่ถูก กรมยุทธศึกษาทหาร) ที่ ๓ กระทรวงกลาโหม ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๖๓/๒๕๕๐ และเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ นางดอกไม้ ทองสุทธิ์หรืองามสวย โจทก์ ยื่นฟ้อง พันตรี ทินกร นพคุณ ที่ ๑ พลเรือตรี พจนา เผือกผ่อง ที่ ๒ กองบัญชาการทหารสูงสุด ที่ ๓ กระทรวงกลาโหม ที่ ๔ จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๕๐/๒๕๕๐ คดีทั้งสองสำนวนศาลแพ่งสั่งรวมการพิจารณา และให้เรียกโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๖๓/๒๕๕๐ ว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ให้เรียกโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๕๐/๒๕๕๐ ว่า โจทก์ที่ ๓ ให้เรียกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้เรียกจำเลยที่ ๓ ในคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๕๐/๒๕๕๐ ว่า จำเลยที่ ๓ และให้เรียกจำเลยที่ ๔ ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ ๔ ส่วนจำเลยที่ ๓ ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๖๓/๒๕๕๐ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ถอนฟ้อง โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นอาจารย์โรงเรียนช่างฝีมือทหาร สอนวิชาช่างเชื่อมโลหะ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบฝึกสอนนักเรียนวิชาเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำและดูแลรักษากุญแจเปิดปิดห้องเรียนเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำ ตลอดจนตรวจตราบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเพื่อป้องกันอันตราย จำเลยที่ ๒ เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนช่างฝีมือทหาร และเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เป็นกรมในรัฐบาล มีหน้าที่กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนและดูแลงบประมาณ รวมทั้งเป็นเจ้าของห้องเรียนและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร จำเลยที่ ๔ มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยราชการส่วนหนึ่ง นายกวิน ฉัตรตระกูล ผู้ตาย เป็นบุตรของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ นายกฤษณ์ลักษณ์ งามสวย ผู้ตาย เป็นบุตรของโจทก์ที่ ๓ ผู้ตายทั้งสองเป็นนักเรียนโรงเรียนช่างฝีมือทหาร สาขาวิชางานตัดเชื่อมใต้น้ำ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ มอบกุญแจห้องเรียนเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำให้แก่นายกฤษณ์ลักษณ์ที่จะเข้าเรียนการเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำในช่วงภาคบ่าย เมื่อมอบกุญแจแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้นายกฤษณ์ลักษณ์ นายกวินและนายณัฐพงษ์ชัย ลิ้มวิไล ใช้กุญแจเปิดห้องเรียนเข้าไปฝึกเรียนเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำตามลำพังโดยไม่มีผู้ใดควบคุมดูแลและอุปกรณ์การเรียนเกิดชำรุด เป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามสูดดมก๊าซที่รั่วไหลจากการฝึกจนจมน้ำในถังฝึกถึงแก่ความตาย การกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ทั้งสามต้องขาดไร้อุปการะ การประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ เกิดขึ้นระหว่างรับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนช่างฝีมือทหารเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าอุปการะ เลี้ยงดูแก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเงิน ๒,๖๖๒,๒๒๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โจทก์ทั้งสามต้องฟ้องหน่วยงานที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ สังกัด และโจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลและสอนนักศึกษาด้วยความระมัดระวังตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและตามวิสัยและพฤติการณ์ที่วิญญูชนทั่วไปพึงปฏิบัติ จำเลยที่ ๑ ปิดประตูห้องฝึกและคล้องกุญแจ ไม่ได้มอบกุญแจให้แก่นายกฤษณ์ลักษณ์ การเสียชีวิตของนายกวิน นายกฤษณ์ลักษณ์และนายณัฐพงษ์ชัยเกิดจากความประมาทเลินเล่อของตนเองและไม่เชื่อฟังคำสั่งของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้กระทำละเมิด จำเลยที่ ๒ เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่สอนหรือดูแลผู้ตายทั้งสาม และจำเลยที่ ๒ ออกระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมความปลอดภัยให้นักเรียนปฏิบัติแล้ว แต่สาเหตุการตายเกิดจากผู้ตายไม่ปฏิบัติตามระเบียบเรื่องความปลอดภัยและขัดคำสั่งครูผู้สอน เมื่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลยที่ ๓ ไม่ได้กระทำละเมิด จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามที่ระบุในคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๘ บัญญัติไว้ว่า กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการดังนี้ (๓) กองบัญชาการทหารสูงสุด มาตรา ๑๘ บัญญัติว่า การแบ่งส่วนราชการกระทรวงกลาโหมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘ และการแบ่งส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุดตามที่กำหนดไว้ใน (๑) (๒) และ (๓) ของมาตรา ๑๓ ออกเป็นส่วนราชการใหญ่ถัดลงไป และการกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ๆ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอันเป็นกฎหมายแล้ว ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยมาตรา ๔ บัญญัติไว้ว่า ให้แบ่งส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม ดังนี้ (๑๙) กรมยุทธศึกษาทหาร และมาตรา ๕ บัญญัติว่า หน้าที่ของส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม มีดังนี้ (๑๙) กรมยุทธศึกษาทหารมีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น วางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแล และดำเนินการเกี่ยวกับการฝึก ศึกษาและวิทยาการทางทหารของกองบัญชาการทหารสูงสุด รวมทั้งดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการของสภาการศึกษาวิชาทหาร และตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการกำหนดหน้าที่ส่วนราชการในกองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. ๒๕๔๑ ข้อ ๕ ระบุไว้ว่า กรมยุทธศึกษาทหารแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๒๓.๖ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร มีหน้าที่ให้การศึกษาวิชาช่างสาขาต่าง ๆ ให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นช่างตามความต้องการของส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหม อันทำให้ กรมยุทธศึกษาทหารมีหน้าที่ให้การศึกษาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเพียงอาจารย์ของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร มีแต่หน้าที่ให้การศึกษาวิชาช่าง รวมทั้งกำกับดูแลการเรียนการสอน ไม่มีอำนาจสั่งการ ใด ๆ ในทางปกครองหรือมีกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติในทางปกครองเป็นการเฉพาะ การควบคุมดูแลในการเรียนการสอนเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ทั่ว ๆ ไประหว่างครูลูกศิษย์ จึงไม่มีสิ่งที่จำเลยที่ ๑ ได้ละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอาจารย์ครูผู้สอนว่าละเลยต่อหน้าที่ในการสอนโดยมอบกุญแจให้แก่นักเรียนแล้วไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ทั่ว ๆ ไป แต่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติ จึงไม่มีการกระทำหรือละเว้นการกระทำในทางปกครอง แต่เป็นการกระทำทางกายภาพเท่านั้น เมื่อไม่มีการฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าไม่จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้อยู่ในสภาพดี คดีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ทั่ว ๆ ไป อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และมาตรา ๕ (๑๙) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดให้กรมยุทธศึกษาทหาร ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น วางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแล และดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกศึกษาและวิทยาการทางทหารของจำเลยที่ ๓ รวมทั้งดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการของสภาการศึกษาวิชาการทหาร แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทั้งสามเห็นว่า บุตรของโจทก์ทั้งสามเสียชีวิตเนื่องจากการที่จำเลยที่ ๑ มอบกุญแจห้องเรียนเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำให้แก่นายกฤษณ์ลักษณ์บุตรของโจทก์ที่ ๓ แล้วไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสามและนายณัฐพงษ์ชัยใช้กุญแจเปิดห้องเรียนเข้าไปฝึกเรียนเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำตามลำพังโดยไม่มีผู้ควบคุมดูแล อีกทั้งอุปกรณ์การเรียนเกิดชำรุด เป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามสูดดมก๊าซที่รั่วไหลจากการฝึกจนจมน้ำในถังฝึกถึงแก่ความตาย อันถือเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ ๑ แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นครูฝึกของโรงเรียนช่างฝีมือทหารอยู่ในสังกัดกรมยุทธศึกษาทหาร โดยกรมยุทธศึกษาทหารเป็นหน่วยงานอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ ๓ ซึ่งจากการแบ่งส่วนราชการตามพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดให้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับการฝึกศึกษาและวิทยาการทางทหาร จึงเห็นว่า การที่หน่วยงานในสังกัดของจำเลยที่ ๓ ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ควบคุมดูแลจัดอุปกรณ์การเรียนการสอนให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีไม่จัดระบบป้องกันความปลอดภัยในโรงเรียนช่างฝีมือทหารและเมื่อจำเลยที่ ๑ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้กำกับควบคุมดูแลการฝึกของบุตรของโจทก์ทั้งสามจนเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวสูดดมก๊าชที่รั่วไหลจากถังฝึกที่ชำรุดถึงแก่ความตาย กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้จำเลยที่ ๔ เป็นกระทรวง และจำเลยที่ ๓ เป็นส่วนราชการและเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๘ (๓) และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีกรมยุทธศึกษาทหาร ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น วางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแล และดำเนินการเกี่ยวกับการฝึก ศึกษาและวิทยาการทางทหารของจำเลยที่ ๓ รวมทั้งดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการของสภาการศึกษาวิชาการทหารตามมาตรา ๕ (๑๙) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งมีโรงเรียนช่างฝีมือทหารอยู่ในสังกัด ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ ๓ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามกล่าวหาว่า จำเลยที่ ๑ เป็นอาจารย์โรงเรียนช่างฝีมือทหารสอนวิชาช่างเชื่อมโลหะมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบฝึกสอนนักเรียนวิชาเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำและดูแลรักษากุญแจเปิดปิดห้องเรียนเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำ ตลอดจนตรวจตราบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเพื่อป้องกันอันตราย ได้มอบกุญแจห้องเรียนเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำให้แก่นายกฤษณ์ลักษณ์ที่จะเข้าเรียนการเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำ แล้วจำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสามและนายณัฐพงษ์ชัยใช้กุญแจเปิดห้องเรียนเข้าไปฝึกเรียนเชื่อมตัดโลหะใต้น้ำตามลำพังโดยไม่มีผู้ใดควบคุมดูแลและอุปกรณ์การเรียนเกิดชำรุด เป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามสูดดมก๊าซที่รั่วไหลจากการฝึกจนจมน้ำในถังฝึกถึงแก่ความตาย ลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ที่โจทก์ทั้งสามอ้างเป็นการกล่าวถึงขั้นตอนที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตลอดจนการควบคุมดูแลนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนนั้นเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของครูผู้สอนเพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุผลเท่านั้น หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายประเสริฐ ฉัตรตระกูล ที่ ๑ นางนงนุช ฉัตรตระกูล ที่ ๒ นางดอกไม้ ทองสุทธิ์หรืองามสวย ที่ ๓ โจทก์ พันตรี ทินกร นพคุณ ที่ ๑ พลเรือตรี พจนา เผือกผ่อง ที่ ๒ กองบัญชาการทหารสูงสุด ที่ ๓ กระทรวงกลาโหม ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
,(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share