แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท ค. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพรับจ้างจัดบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ประจำอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ ย่อมต้องมีความซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สินค้าแผ่นยางพาราที่มิได้บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ ตู้ละ 30 มัด นับว่าเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะทำให้น้ำหนักของสินค้าขาดหายไปถึง 3,330.30 กิโลกรัมในแต่ละตู้และจำนวนสินค้าแผ่นยางพาราจำนวน 180 มัด ที่วางเรียงกันเป็น 11 แถวในแต่ละตู้ จะมีสินค้าในตู้ที่ขาดหายไปถึงเกือบ 2 แถว ซึ่งผู้ทำหน้าที่จัดบรรจุ ตรวจนับ และตรวจการบรรจุสินค้าย่อมสามารถเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาใบตรวจรับสภาพตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าแผ่นยางพาราแล้วปรากฏว่า ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองที่โจทก์อ้างว่ามีสินค้าแผ่นยางพาราสูญหายไปยังคงมีน้ำหนักสินค้ารวมตู้ตู้ละ 22 ตัน หากมีการบรรจุสินค้าขาดไปตู้ละ 30 มัด น้ำหนักรวมของตู้ควรเหลือประมาณตู้ละ 19 ตันเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้ามิได้สูญหายไปในช่วงการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือต้นทางและตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดที่ถูกลากมายังโรงงานของผู้รับสินค้า ซีลปิดตู้ทุกตู้ยังอยู่ในสภาพดี แสดงให้เห็นว่า ตู้ไม่ได้ถูกเปิดออกนับตั้งแต่มีการบรรจุสินค้าเข้าที่ท่าเรือกรุงเทพ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าสินค้าสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 511,989.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 492,168 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 492,198 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 19,821.56 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ตกลงทำสัญญาขายสินค้าแผ่นยางพาราเกรด อาร์เอสเอส (RSS) 3 จำนวน 200 ตัน ให้แก่บริษัทจงเสิน เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ซื้อซึ่งอยู่ที่เมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้เงื่อนไขแบบ ซีไอเอฟ (CIF) ZHANGJIAGANG ในราคา 357,000 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ผู้ขาย บรรจุหีบห่อสินค้าจำนวน 1,800 ห่อ ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันให้ผู้ขายขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้ที่จังเจียกัง สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากสินค้าดังกล่าวผู้ซื้อได้ทำสัญญาขายให้แก่บริษัทเจียงเหลียงยางพารา จำกัด ซึ่งอยู่ที่เขตการค้าเสรีจังเจียกัง ภายใต้เงื่อนไขแห่งสัญญาซื้อขายแบบ ซีไอเอฟ (CIF) ZHANGJIAGANG บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ผู้ขาย จึงมีหน้าที่ติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่งและชำระค่าระวางการขนส่งตั้งแต่จากโรงงานหรือโกดังของผู้ขายไปจนถึงท่าเรือปลายทางจังเจียกัง สาธารณรัฐประชาชนจีน และต้องจัดหาผู้รับประกันภัยสินค้าและชำระค่าเบี้ยประกันภัยด้วย ดังนั้น บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) จึงทำสัญญาประกันภัยไว้กับโจทก์ สำหรับความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งตั้งแต่จากการโกดังหรือโรงงานของผู้เอาประกันภัยไปจนกว่าสินค้าจะขนส่งถึงยังโกดังหรือโรงงานของผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้าที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในความเสี่ยงภัยทุกประเภท (ALL RISKS) อันเป็นการรับประกันภัยภายใต้เงื่อนไขการรับประกันภัยของสถาบันความคุ้มครองสินค้า (เอ) (INSTITUTE CARGO CLAUSES (A)) ในวงเงิน 392,700 ดอลลาร์สหรัฐ ในการขนส่งสินค้ารายนี้ บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัย ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาในดินแดนไต้หวันโดยจำเลยที่ 1 ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการขนส่งตั้งแต่จากโรงงานหรือโกดังของผู้เอาประกันภัยไปยังจังเจียกัง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้เงื่อนไขแบบแอลซีแอล/เอฟซีแอล (LCL/FCL) หลังจากนั้นบริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประภันภัย นำสินค้าจำนวน 1,800 ห่อ มาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตรวจนับสินค้าครบถ้วนจึงรับสินค้าไว้ และนำไปบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตู้ละ 180 ห่อ จำนวน 10 ตู้ จำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งแทนจำเลยที่ 2 มอบให้แก่ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 2 นำเรือชื่อ “WAN HAI 233” เที่ยวที่ N155 มาทำการส่งสินค้าพิพาท โดยเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพ ไปยังท่าเรือจังเจียกัง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเรือขนส่งไปถึงท่าเรือจังเจียกัง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อถึงท่าเรือปลายทางแล้ว มีการขนถ่ายตู้สินค้า 10 ตู้ จากเรือนำไปจัดเก็บไว้ในโกดังสินค้าที่ท่าเรือปลายทาง ต่อมาผู้รับสินค้าติดต่อขอรับตู้สินค้าจากท่าเรือแล้วนำไปเปิดที่โรงงานของผู้ซื้อ ปรากฏว่า ตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข WHLU2717671 และหมายเลข WHLU8030023 มีสินค้าสูญหายตู้ละ 30 ห่อ รวม 60 ห่อ มีสินค้าทั้งหมดเหลือเพียง 1,740 ห่อ ตามใบรับของ สำเนาใบตรวจรับและเช็คสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทไชน่ายูไนเต็ด แทลลี่ จำกัด และใบรายการสินค้าที่นำออกจากตู้/สินค้าเสียหายสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ ต่อมาผู้ซื้อได้มอบหมายให้ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ดำเนินการติดตามเรียกร้องและรับเงินในนามของผู้เอาประกันภัยจากเหตุที่สินค้าสูญหายในระหว่างการขนส่ง โจทก์พิจารณาแล้ว เห็นว่า สินค้าพิพาทสูญหายไปในระหว่างการขนส่งซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จึงจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 492,168 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าสินค้ายางพาราจำนวน 60 มัด ได้สูญหายไปในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า สินค้ายางพาราทั้งหมดมีจำนวนทั้งสิ้น 1,800 มัด น้ำหนักมัดละ 111.11 กิโลกรัม ถูกแบ่งบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จำนวน 10 ตู้ ตู้ละ 180 มัด เท่ากัน จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ทำการบรรจุสินค้าทั้งหมดเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้บริษัทคอนบัลค์ เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด และจำเลยทั้งสามมีนายจิตติ หัวหน้าชุดงานบรรจุสินค้าของบริษัทคอนบัลค์ เซอร์วิส จำกัด เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า ได้รับสินค้าแผ่นยางพาราจากบริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,800 มัด ได้ดำเนินการบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 10 ตู้ ตู้ละ 180 มัด การบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้จะใช้เวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ใช้เวลาบรรจุสินค้าทั้งสิ้น 2 วัน และมีนายสถาพร เจ้าหน้าที่ตรวจนับสินค้าของบริษัทคอนบัลค์ เซอร์วิส จำกัด เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า ได้ตรวจนับสินค้าแผ่นยางพาราเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 10 ตู้ ตู้ละ 180 มัด ครบถ้วน โดยการตรวจนับสินค้าแต่ละตู้นั้น สินค้าแผ่นยางพาราจะถูกบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 11 แถว แถวแรกมี 20 มัด แถวที่ 2 ถึงแถวที่ 11 มีแถวละ 16 มัด เมื่อบรรจุสินค้าเข้าตู้ครบ 10 ตู้แล้ว จึงทำเอกสารนำไปให้นายมหาตม์ เจ้าหน้าที่ตรวจเช็คของบริษัทตรวจสอบและลงลายมือชื่อไว้ โดยนายมหาตม์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า ได้ทำการตรวจสอบสินค้าแผ่นยางพาราทั้ง 10 ตู้คอนเทนเนอร์ บรรจุสินค้าแผ่นยางพาราจำนวน 180 มัด ต่อตู้ครบถ้วน และมีการปิดตู้และผนึกซีลที่ประตูตู้คอนเทนเนอร์เรียบร้อยทุกตู้ เห็นว่า บริษัทคอนบัลค์ เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้ประกอบวิชาชีพรับจ้างจัดบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ประจำอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ ย่อมต้องมีความซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สินค้าแผ่นยางพาราที่มิได้บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข WHLU8030023 และ WHLU2717671 ตู้ละ 30 มัด นับว่าเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะทำให้น้ำหนักของสินค้าขาดหายไปถึง 3,333.30 กิโลกรัม ในแต่ละตู้ และจำนวนสินค้าแผ่นยางพาราจำนวน 180 มัด ที่วางเรียงกันเป็น 11 แถว ในแต่ละตู้ จะมีสินค้าในตู้ที่ขาดหายไปถึงเกือบ 2 แถว ซึ่งผู้ทำหน้าที่จัดบรรจุ ตรวจนับ และตรวจการบรรจุสินค้าย่อมสามารถเห็นความผิดปกติดังกล่าวได้อย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาใบตรวจรับสภาพตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าแผ่นยางพาราเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องมีการตรวจสภาพตู้คอนเทนเนอร์และชั่งน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 10 ตู้ ก่อนนำไปเก็บไว้ในท่าเรือเพื่อรอบรรทุกขึ้นเรือ ปรากฏว่าตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข WHLU8030023 และ WHLU2717671 ที่โจทก์อ้างว่ามีสินค้าแผ่นยางพาราสูญหายไปตู้ละ 30 มัด ยังคงมีน้ำหนักสินค้ารวมตู้คอนเทนเนอร์ด้วย ตู้ละ 22 ตัน เท่ากับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าแผ่นยางพาราอื่นด้วยกันอีก 7 ตู้ ส่วนอีก 1 ตู้ มีน้ำหนักรวม 21 ตัน ถือว่าใกล้เคียงกันซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ สินค้าแผ่นยางพาราแต่ละมัดมีน้ำหนักมัดละ 111.11 กิโลกรัม บรรจุเต็มตู้จำนวน 180 มัด จะมีน้ำหนักเฉพาะสินค้ารวม 19,999.8 กิโลกรัม เมื่อรวมกับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์เปล่า ซึ่งปรากฏอยู่ในสำเนาใบตรวจนับสินค้าทั้ง 10 ตู้คอนเทนเนอร์ มีน้ำหนักเท่ากันคือตู้ละ 2,370 กิโลกรัม เมื่อนำมารวมกับน้ำหนักของสินค้าทั้งตู้แล้ว จะมีน้ำหนักตู้ละ 22,369.8 กิโลกรัม ตรงตามน้ำหนักรวมที่ปรากฏในใบตรวจรับสภาพตู้สินค้า คือตู้ละประมาณ 22 ตัน หากมีการบรรจุสินค้าแผ่นยางพาราเข้าตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข WHLU8030023 และ WHLU2717671 เพียงตู้ละ 150 มัด ขาดไปตู้ละ 30 มัด น้ำหนักรวมของตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 2 ตู้ ควรเหลือประมาณ 19 ตัน เท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า มีการบรรจุสินค้าแผ่นยางพาราเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 10 ตู้ ครบจำนวนตู้ละ 180 มัด สินค้าแผ่นยางพารามิได้สูญหายไปในช่วงการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือต้นทางดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า ผู้รับสินค้าได้มาลากตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข WHLU2717671 หมายเลข WHLU8030023 ไปจากท่าเรือปลายทาง และเปิดตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 2 ตู้ ประกอบบันทึกอธิบายเหตุการณ์ของบริษัทจางเจียก่าง จงเหลียน ตรวจนับสินค้า จำกัด และข้อเท็จจริงได้ความว่า ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดที่ถูกลากมายังโรงงานของผู้รับสินค้า ซีลปิดตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ยังอยู่ในสภาพดี แสดงให้เห็นว่า ตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ไม่ได้ถูกเปิดออกนับตั้งแต่มีการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือกรุงเทพ รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข WHLU2717671 และ WHLU8030023 ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์จากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ว่า ผู้รับสินค้าได้นำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าหมายเลข WHLU2717671 และ WHLU8030023 รวม 2 ตู้ มาส่งคืน ย่อมแสดงว่า ตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 2 ตู้ ดังกล่าวได้ถูกเปิดออกและมีการขนถ่ายสินค้าแผ่นยางพาราออกจากตู้เก็บไว้ในโรงงานของผู้รับสินค้าแล้ว ซึ่งการนำสินค้าออกจากตู้น่าจะต้องทราบแล้วว่า สินค้าแผ่นยางพาราที่นำออกจากตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 2 ตู้ มีจำนวนเท่าใด หากสินค้าขาดจำนวนก็น่าจะทราบได้ตั้งแต่ดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏมีการทักท้วงว่าสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 2 ตู้ มีไม่ครบจำนวน ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างว่าบริษัทจางเจียก่าง จงเหลียน ตรวจนับสินค้า จำกัด ทำการตรวจนับสินค้าแผ่นยางพาราทั้ง 10 ตู้คอนเทนเนอร์ แล้วระบุว่าสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข WHLU2717671 และหมายเลข WHLU8030023 ขาดจำนวนไปตู้ละ 30 มัด และรายงานการสืบสวนของบริษัทฮัวดะ ลอส แอดจัสเตอร์ แอนด์ เซอร์เวย์เยอร์ จำกัด ผู้สำรวจความเสียหายที่ระบุว่า ความสูญหายของสินค้าน่าจะเกิดจากขั้นตอนการบรรจุสินค้านั้น บริษัทได้รับแจ้งให้ไปทำการสำรวจสินค้า ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ในภายหลังจากการเปิดตู้คอนเทนเนอร์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังน้อย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าสินค้าแผ่นยางพารา จำนวน 60 มัด ได้สูญหายไปในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในความสูญหายของสินค้าแผ่นยางพาราจำนวน 60 มัด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง