คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในทางพิจารณาของโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยถูกจับกุมสอบสวนหรือดำเนินคดี ฉะนั้น การพาดหัวข่าวทางหนังสือพิมพ์ ด. รายสัปดาห์ ในหน้าแรกพร้อมภาพใบหน้าของโจทก์มีข้อความว่า “ลับ ชี้สำนวนความผิดจับ “ธ”(ซึ่งหมายถึงโจทก์)” ย่อมทำให้ผู้อ่านโดยทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ถูกจับกุมสอบสวนดำเนินคดีซึ่งมิใช่ข้อความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังได้
โจทก์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีมติให้กล่าวโทษดำเนินคดีแก่ ส. กับพวก ซึ่งในวันที่มีมติโจทก์ก็เข้าร่วมประชุมในฐานะประธานด้วย ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบว่ามติดังกล่าวเป็นเรื่องของคณะกรรมการไม่เกี่ยวกับโจทก์ได้ แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ ส. ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน และฝ่ายตรวจสอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามตรวจสอบการปั่นหุ้นของกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่มของ ส.ด้วยไม่ใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มของส. เพียงกลุ่มเดียวแสดงว่าการกล่าวโทษร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ ส. มิใช่การกระทำที่ลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ ฉะนั้น การที่จำเลยเสนอข่าวว่าโจทก์ให้ดำเนินคดีจับ ส.พร้อมยัดข้อหาเป็นการใช้อำนาจทำเพื่อเพื่อน ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยลำเอียง ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและไม่มีคุณธรรมเลือกปฏิบัติมุ่งช่วยเหลือพวกพ้อง ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยมิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมหรือเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต
จำเลยต้องรับผิดในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ ด. รายสัปดาห์ โดยที่จำเลยมิได้เป็นผู้ประพันธ์ข้อความ หนังสือพิมพ์ดังกล่าวมักเสนอข่าวใหญ่เกี่ยวกับธุรกิจและออกเป็นรายสัปดาห์ซึ่งมีผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม การให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งในหนังสือพิมพ์ประเภททั่วไปและธุรกิจ ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ย่อมไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลย สมควรให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ด.รายสัปดาห์และหนังสือพิมพ์ ผ. รายสัปดาห์ เพียง 2 ฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ พิมพ์ออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร จำเลยได้เสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ฉบับที่ 223 ประจำวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2540 ถึงวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม 2540 พร้อมกับตีพิมพ์ภาพใบหน้าของโจทก์ติดกับข้อความพาดหัวข่าวในหน้าแรกมีข้อความว่า “ลับ ชี้สำนวนความผิด จับ “ธารินทร์”” และมีข้อความต่อไปอีกว่า “รัฐบาลเตรียมเปิดปฏิบัติการ ตีวัวกระทบคราด สำทับด้วยทีเด็ด “ตัดไม้ข่มนาม” กำราบลดระดับความห้าวแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ด้วยการสะกิดประเด็นเบื้องหลังหายนะ บี.บี.ซี.เอฟ.ซี.ไอ. และการรั่วไหลของเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนเงินมหาศาลระหว่างปี 2535 – 2538 ที่พรรคประชาธิปัตย์เรืองอำนาจออกมาไล่ล่าหาตัวการรับผิดชอบ รายการนี้อดีตขุนคลังธารินทร์มีสิทธิถูกหวยรวยเคราะห์ครั้งใหญ่ ได้รับสถาปนาเป็นผู้ต้องหาฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบแถมพ่วงด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เจ้าตัวออกอาการอู้อี้มีท่าทีเหมือนหยั่งรู้ชะตากรรมความวิบากที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้” และมีข้อความในหน้าที่ 2 ตอนหนึ่งว่า “ผลงานชิ้นแรกที่ขุนคลังธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ดูจะมีความภูมิอกภูมิใจอย่างมากนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 13 กันยายน 2535 ก็คือการนั่งเป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. ในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 เพื่อดำเนินการจับสองวัชรศรีโรจน์ พร้อมยัดข้อหาว่าคบคิดกับเพื่อน พี่น้อง ปั่นหุ้นแบงค์กรุงเทพฯพาณิชย์การหรือ บี.บี.ซี… หากแต่มีเบื้องหลังที่แท้จริงที่คนส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความจริงก็คือ กรณีการจับปั่นหุ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของขุนคลังผู้รักเพื่อน ใช้อำนาจหน้าที่ทำเพื่อเพื่อนคือเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เนื่องมาจากก่อนหน้านี้กำลังเกิดศึกการแย่งชิงหุ้นในแบงก์ บี.บี.ซี. ระหว่างเจ้าของเดิมกับสอง วัชรศรีโรจน์ ที่เข้ามาไล่เก็บซื้อหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เทขายออกมา การช่วยเบรก การเข้ามาไล่เก็บซื้อหุ้นแบงก์ บี.บี.ซี โดยการสั่งจับสอง วัชรศรีโรจน์ ข้อหาปั่นหุ้นซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยลำเอียง ทำให้เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ยังคงรักษาความเป็นเจ้าของกิจการแบงก์ บี.บี.ซี. เอาไว้ได้…” ข้อความดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโจทก์อยู่เบื้องหลังความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด โดยโจทก์มีความผิด และถูกจับเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าโจทก์ได้ดำเนินคดีกับนายสองวัชรศรีโรจน์ ในข้อหาปั่นหุ้นโดยอคติ มิได้ตั้งอยู่บนความถูกต้องและเป็นธรรมกลั่นแกล้งนายสอง วัชรศรีโรจน์ เพื่อช่วยเหลือนายเกริกเกียรติชาลีจันทร์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับโจทก์ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 58, 92พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 และขอให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลลงในนิตยสารดอกเบี้ยรายเดือน หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์รายวันอื่นอีก 8 ฉบับด้วยตัวอักษรขนาดเท่าที่จำเลยได้เสนอข่าว คือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ผู้จัดการ มติชน แนวหน้า ข่าวสด เดอะเนชั่น และบางกอกโพสต์ เป็นเวลา15 วันติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากจำเลยไม่สามารถลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับใดฉบับหนึ่งได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่นตามที่โจทก์จะเป็นผู้กำหนดโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ประกอบพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 60,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยมิใช่เป็นผู้เขียนข่าว แต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับเกิดเหตุอันเป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง ยังมีโอกาสเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวและประพฤติตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลอาญา มีกำหนด 4 ครั้ง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในนิตยสารดอกเบี้ยรายเดือน หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หรือหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับใดฉบับหนึ่ง หนังสือพิมพ์มติชนหรือหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับใดฉบับหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ด้วยตัวอักษรขนาดเท่าที่หนังสือพิมพ์ทั่วไปเสนอข่าวตามปกติเป็นระยะเวลา 7 ครั้งติดต่อกัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ พิมพ์จำหน่ายทั่วราชอาณาจักร เมื่อระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2540 จำเลยได้เสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ ฉบับที่ 223 ประจำวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2540 ถึงวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม 2540 โดยลงข่าวพร้อมพิมพ์ภาพใบหน้าโจทก์ในหน้าแรกว่า “ลับ ชี้สำนวนความผิด จับ “ธารินทร์”” และมีข้อความต่อไปอีกว่า “รัฐบาลเตรียมเปิดปฏิบัติการ ตีวัวกระทบคราด สำทับด้วยทีเด็ด “ตัดไม้ข่มนาม” กำราบลดระดับความห้าวแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ ด้วยการสะกิดประเด็นเบื้องหลังหายนะ บี.บี.ซี. เอฟ.ซี.ไอ. และการรั่วไหลของเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนเงินมหาศาลระหว่างปี 2535 2538 ที่พรรคประชาธิปัตย์ เรืองอำนาจออกมาไล่ล่าหาตัวการรับผิดชอบ รายการนี้อดีตขุนคลังธารินทร์มีสิทธิถูกหวยรวยเคราะห์ครั้งใหญ่ ได้รับสถาปนาเป็นผู้ต้องหาฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบแถมพ่วงด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเจ้าตัวออกอาการอู้อี้มีท่าทีเหมือนหยั่งรู้ชะตากรรมความวิบากที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้” กับมีข้อความในหน้า 2 ตอนหนึ่งว่า “ผลงานชิ้นแรกที่ขุนคลังธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ดูจะมีความภูมิอกภูมิใจอย่างมากนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 13 กันยายน 2535 ก็คือ การนั่งเป็นประธานกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. ในคืนวันที่ 17พฤษภาคม 2535 เพื่อดำเนินการจับสอง วัชรศรีโรจน์ พร้อมยัดข้อหาว่าคบคิดกับเพื่อน พี่น้อง ปั่นหุ้นแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การ หากแต่มีเบื้องหลังที่แท้จริงคนส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความจริงก็คือ กรณีการจับปั่นหุ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของขุนคลังผู้รักเพื่อนใช้อำนาจหน้าที่ทำเพื่อเพื่อน คือเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เนื่องมาจากก่อนหน้านี้กำลังเกิดศึกการแย่งชิงหุ้นในแบงก์ บี.บี.ซี. ระหว่างเจ้าของเดิมกับสอง วัชรศรีโรจน์ ที่เข้ามาไล่เก็บซื้อหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เทขายออกมาการช่วยเบรก การเข้ามาไล่เก็บซื้อหุ้นแบงก์ บี.บี.ซี. โดยการสั่งจับสองวัชรศรีโรจน์ ข้อหาปั่นหุ้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยลำเอียง ทำให้เกริกเกียรติชาลีจันทร์ ยังรักษาความเป็นเจ้าของกิจการแบงก์ บี.บี.ซี. เอาไว้ได้”รายละเอียดของข่าวดังกล่าวปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 คงมีปัญหาชั้นฎีกาข้อแรกว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับข้อความพาดหัวข่าวในหน้าแรกพร้อมภาพใบหน้าของโจทก์ซึ่งมีข้อความว่า”ลับ ชี้สำนวนความผิด จับ “ธารินทร์”” และรายละเอียดเกี่ยวกับข้อความพาดหัวข่าวดังกล่าวนั้น ย่อมทำให้ผู้อ่านข่าวทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์มีความผิดและจะถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา ดังที่นางแสงทิพย์ ยิ้มละมัยหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐพยานจำเลยเบิกความว่าเมื่ออ่านข่าวดังกล่าวประกอบภาพใบหน้าโจทก์แล้วรู้สึกว่าโจทก์กระทำความผิด ตัวโจทก์เบิกความว่าโจทก์ไม่เคยถูกเรียกไปสอบสวนดำเนินคดีและไม่ได้ถูกจับกุมตามที่พาดหัวข่าว จำเลยเบิกความว่ามูลเหตุของการเสนอข่าวสืบเนื่องมาจากร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าจะมีการดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาเกี่ยวกับปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในสมัยที่โจทก์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อมาได้มีนายธวัชชัย อินทรปัญญา แจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์แต่ผลของคดีจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ นายอายุธ ศักดิ์มังกร ทนายจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้ให้ข่าวว่ามีทนายความคนหนึ่งจะแจ้งความจับโจทก์ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการแก้ไขปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย ต่อมาข่าวดังกล่าวเงียบหายไป และไม่เคยได้ข่าวว่าโจทก์ถูกเรียกไปสอบสวน นายรัฐกร อัสดรธีรยุทธ์กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทดอกเบี้ย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า พยานไม่เคยเห็นสำนวนความผิดที่จะใช้จับโจทก์ โจทก์จะเคยถูกจับกุมและถูกสอบสวนหลังจากเสนอข่าวหรือไม่ ไม่ทราบและจนกระทั่งขณะที่มาเบิกความก็ไม่มีข่าวว่าโจทก์ถูกจับกุมสอบสวน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ไม่เคยถูกจับกุมสอบสวนหรือดำเนินคดี การพาดหัวข่าวทางหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ว่า “ลับ ชี้สำนวนความผิด จับ “ธารินทร์”” พร้อมตีพิมพ์ภาพใบหน้าของโจทก์ย่อมทำให้ผู้อ่านโดยทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ถูกจับกุมสอบสวนดำเนินคดีซึ่งมิใช่ข้อความจริงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังได้ส่วนข้อความในหน้าที่ 2 เกี่ยวกับการจับกุมนายสอง วัชรศรีโรจน์ ในข้อหาปั่นหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ นั้น โจทก์เบิกความว่า การดำเนินคดีแก่นายสองกับพวกเป็นไปตามมติของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่มีโจทก์เป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง และโจทก์มิได้สนิทสนมกับนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ และนายประสารไตรรัตน์วรกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พยานโจทก์เบิกความว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามการซื้อขายหุ้นของนายสองกับพวกและกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2535ก่อนที่โจทก์จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 ทางสำนักงานฯ ได้รับข้อมูลว่านายสองจะเดินทางไปต่างประเทศวันรุ่งขึ้นสงสัยจะหลบหนีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่ามีทางใดจะป้องกันไม่ให้นายสองเดินทางออกนอกประเทศ คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายพิจารณาแล้วเสนอแนวทางดำเนินการ 3 แนวทาง แต่แนวทางที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วคือให้กล่าวโทษดำเนินคดีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวตามรายละเอียดเอกสารหมาย จ.7 เห็นว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีมติให้กล่าวโทษดำเนินคดีแก่นายสองกับพวกในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่มีมติโจทก์ก็เข้าร่วมประชุมในฐานะประธานด้วย ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบว่ามติดังกล่าวเป็นเรื่องของคณะกรรมการไม่เกี่ยวกับโจทก์ได้ แต่จากคำเบิกความของนายสองพยานจำเลยได้ความว่า โจทก์กับนายสองไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน และนายวิจิตร สุพินิจ ซึ่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและเป็นคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตำแหน่งขณะนั้นเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าฝ่ายตรวจสอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามตรวจสอบการปั่นหุ้นของกลุ่มอื่น ๆ นอกจากกลุ่มของนายสองด้วย ไม่ใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มของนายสองเพียงกลุ่มเดียว เช่นติดตามการปั่นหุ้นของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด บริษัทเงินทุนเฟิร์สซิตี้ อินเวสเมนต์ จำกัด และบริษัทรัตนะการเคหะ จำกัด เป็นต้นคำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวเจือสมกับคำของนายประสารรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พยานโจทก์ซึ่งเบิกความว่า การตรวจสอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มิได้เจาะจงตรวจสอบผู้หนึ่งผู้ใดแต่ตรวจสอบหุ้นของบริษัททั่วไป และได้ติดตามการซื้อขายหุ้นของบุคคลอื่นนอกจากกลุ่มของนายสองด้วย แสดงว่าการกล่าวโทษร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายสองมิใช่การกระทำที่ลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ การที่จำเลยเสนอข่าวว่าโจทก์ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการจับนายสองพร้อมยัดข้อหาเป็นการใช้อำนาจทำเพื่อเพื่อน ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยลำเอียง ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีคุณธรรมเลือกปฏิบัติมุ่งช่วยเหลือพวกพ้อง ย่อมทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยทั้งสองกรณีมิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมหรือเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นจำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า หากศาลฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องก็ขอให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ซึ่งอยู่ในเครือของจำเลยเท่านั้น เห็นว่า จำเลยต้องรับผิดในฐานะเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์ ซึ่งเสนอข่าวอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ในหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์โดยที่จำเลยมิได้เป็นผู้ประพันธ์ข้อความ หนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวส่วนใหญ่เกี่ยวกับธุรกิจและออกเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งมีผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม การให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งในหนังสือพิมพ์ทั่วไปและในหนังสือพิมพ์ประเภทธุรกิจทั้งรายวันและรายสัปดาห์ย่อมไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลย จึงเห็นสมควรให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์เพียง2 ฉบับ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการายสัปดาห์จำนวน 2 ฉบับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share