คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขามีนบุรี จะไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่มาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 และไม่มีการเก็บค่าจอดรถก็ตาม แต่การก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน ต่อพื้นที่ทุกๆ 20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของห้าง โดยต้องตรวจบัตรเมื่อจะนำรถออกให้ตรงกับทะเบียนรถ จึงเป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ตามพฤติการณ์เป็นการให้บริการอย่างหนึ่งที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จึงเป็นผู้ให้บริการ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 3 และนอกจากผู้บริโภคในคดีนี้แล้วยังมีผู้บริโภคอื่นอีกหลายรายที่นำรถไปจอดในที่จอดรถของห้างจำเลยที่ 1 แล้วสูญหายไป การดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 39 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง เมื่อปรากฏว่ารถที่สูญหายไปบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ระมัดระวังในการออกบัตรจอดรถและตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดเป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้บริโภคถูกลักไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้าง ตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 1 ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจึงต้องรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้ทำแทนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฎ-3500 กรุงเทพมหานคร หรือชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายอลงลาภ ผู้บริโภค
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้ประมาทเลินเล่อแต่ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันโดยใช้ระบบบัตรผ่านเข้าออกลานจอดรถแล้วแต่นายอลงลาภเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อไม่ล็อกประตูรถ ไม่ติดสัญญาณป้องกันการโจรกรรมจึงถูกคนร้ายโจรกรรมรถได้ง่ายการที่รถยนต์ของนายอลงลาภสูญหายเพราะคนร้ายปลอมบัตรผ่านเข้าออกเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะป้องกันได้ รถยนต์พิพาทสภาพเก่าราคาไม่เกิน 100,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฎ-3500 กรุงเทพมหานคร หรือใช้ราคาเป็นเงิน 220,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายอลงลาภ (ผู้บริโภค)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้บริโภคขับรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน 1ฎ-3500 กรุงเทพมหานคร เข้าไปจอดในที่จอดรถของห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขามีนบุรี ของจำเลยที่ 1 และรถยนต์ของผู้บริโภคที่จอดไว้ดังกล่าวได้หายไป แม้จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ 1 คันต่อพื้นที่ทุก ๆ 20 ตารางเมตร จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอดรถในห้างดังกล่าว ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากห้างต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้างของจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่า ไม่มีการเก็บค่าจอดรถก็ตาม แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามบทบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3 การดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 39 การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยปล่อยให้คนร้ายนำรถของผู้บริโภคออกจากลานจอดรถที่เกิดเหตุโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ของผู้บริโภคถูกลักไป เป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างที่กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อผู้บริโภค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อผู้บริโภค นอกจากจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วยังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลหรือครอบครองของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ที่เกิดเหตุด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคโดยประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์พิพาทของผู้บริโภคสูญหายไป จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share