แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 ซึ่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการพิพากษาโดยมีข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 190 บัญญัติให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งอ่านแล้วได้เฉพาะถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดเท่านั้น มิได้บัญญัติรวมถึงการแก้ไขกรณีมีข้อผิดหลงเล็กน้อยไว้เหมือนดังเช่น ป.วิ.พ. มาตรา 143 ดังนี้ แม้คดีจะถึงที่สุดไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ขอให้งดเพิ่มโทษจำเลย เท่ากับจำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องและคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดหลงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2551 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 15 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 20 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ริบอาวุธมีดของกลางและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 356,350 บาท
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีที่ศาลชั้นต้นนำมาเพิ่มโทษเป็นคดีที่ได้กระทำก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และจำเลยพ้นโทษไปแล้วในปี 2546 จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และมาตรา 3 (1) จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ขอให้งดเพิ่มโทษจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลพิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยจนคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเพิ่มโทษเพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 ซึ่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการพิพากษาโดยมีข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 บัญญัติให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งอ่านแล้วได้เฉพาะถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดเท่านั้น มิได้บัญญัติรวมถึงการแก้ไขกรณีมีข้อผิดหลงเล็กน้อยไว้เหมือนดังเช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ดังนี้ แม้คดีจะถึงที่สุดไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ขอให้งดเพิ่มโทษจำเลย เท่ากับจำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องและคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดหลงนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพราะมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีก
พิพากษากลับว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุกจำเลย 15 ปี เมื่อลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน