คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งไม่ได้ระบุถึงข้อตกลงว่าจะแบ่งกันอย่างไร และให้กันเพราะเหตุใด นั้น ถือว่าเป็นเพียงพฤติการณ์ที่แสดงเจตนาจะทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จึงไม่ใช่เอกสารที่ต้องห้ามมิให้นำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งที่ดินกึ่งหนึ่งตามที่จำเลยยอมให้โจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นนัดพร้อม จดข้อที่คู่ความรับกันแล้วสั่งงดสืบพยาน พิพากษาให้โจทก์ชนะ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สืบพยานที่ยังโต้เถียงกันอยู่ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกาว่า คำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยจะสืบหักล้างไม่ได้ หากจะสืบไปก็คงได้ความตามคำรับและคำแถลงเดิมนั่นเอง
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ถึงเหตุที่ต้องยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่พิพาท โจทก์ว่าเพราะจำเลยตกลงแบ่งที่ดินพาทอันเป็นมรดกของมารดาให้โจทก์ ฝ่ายจำเลยว่าเพราะเหตุที่โจทก์ตกลงแลกเปลี่ยนเรือนของโจทก์กับที่พิพาทของจำเลย ซึ่งถ้าหากข้อเท็จจริงเป็นดังข้อต่อสู้ของจำเลย ก็เป็นเรื่องตกลงแลกเปลี่ยนเรือนกับที่พิพาท หาใช่เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองไม่ และศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมท้ายฟ้องมิได้ระบุถึงจ้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยในการแบ่งที่พิพาทกันว่ามีอย่างไร จะให้กันเพราะเหตุใด นั้น เป็นพฤติการณ์เพียงคู่ความแสดงเจตนาว่าจะทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาสืบพยานต่อไปว่า ความจริงมีอยู่อย่างไร คำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก็มิใช่เอกสารที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ (ข) เพราะคำขอดังกล่าวไม่ใช่หนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความอันกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์

Share