คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6631/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะทำสัญญาจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยนาท และลงลายมือชื่อในสัญญาที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ จึงถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4(1) การที่โจทก์เสนอคำฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลงตามฟ้องจริง โดยมิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยยอมรับว่าได้ทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลงกับโจทก์โดยไม่จำต้องอาศัยหนังสือสัญญาจ้างเป็นหลักฐานในคดีแม้สัญญาจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 จึงรับฟังเป็นหลักฐานได้ และตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าต้องปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจมีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว หนังสือมอบอำนาจจึงใช้บังคับได้
สัญญาว่าจ้างร้องเพลงระบุว่าโจทก์มีหน้าที่บันทึกเสียง จัดทำแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงคอมแพกดิสก์ วีดิโอ หรือโสตทัศนวัสดุอื่นใดทุกชนิด รวมทั้งมีหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อชื่อเสียงของจำเลยเองทั้งหมด โจทก์จึงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและมีโอกาสเสี่ยงต่อการลงทุน ซึ่งต่างกับจำเลยซึ่งเพียงแต่ลงทุนแรงกายเป็นหลักเท่านั้น การที่สัญญาดังกล่าวจะระบุให้โจทก์ได้สิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ของจำเลยบางส่วนในกำหนด 5 ปี นับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรซึ่งหลังจากสิ้นสุดสัญญา จำเลยสามารถแสวงหารายได้จากการมีชื่อเสียงของตนได้เอง หาใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดเสียทีเดียว ทั้งจำเลยก็สมัครใจทำสัญญาโดยยอมรับค่าตอบแทนที่โจทก์กำหนดให้ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในเชิงการประกอบธุรกิจโดยชอบจึงไม่เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นวันผิดนัดก่อนฟ้องคดี จึงเป็นการเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 19,696,967.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าขึ้นศาลคิดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยร้องเพลงบันทึกเสียงให้โจทก์เพียงผู้เดียวเพื่อทำเป็นแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง คอมแพกดิสก์ วีดีโอหรือโสตทัศนวัสดุอื่นทุกชนิด รวมทั้งการถ่ายแบบโฆษณาสินค้าเป็นเวลา 5 ปี ตามสัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาจ้างนักร้อง)
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า มูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากสัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาว่าจ้างนักร้อง) มีข้อความระบุว่า เขียนที่ ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ 34 ซอยสันติ ถนนกรุงเทพ – นนท์ ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจมีข้อความระบุว่า ทำที่ ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ 34 ซอยสันติ ถนนกรุงเทพ – นนท์ ตำบลบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี แสดงว่าห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ในสัญญาดังกล่าวตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี แม้ขณะทำสัญญาจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยนาท และลงลายมือชื่อในสัญญาที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ จึงถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์อีกแห่งหนึ่ง จึงอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) การที่โจทก์เสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า สัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาว่าจ้างนักร้อง) ไม่ปิดอากรแสตมป์ และหนังสือมอบอำนาจไม่ปรากฏว่าปิดอากรแสตมป์เมื่อใด รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การยอมรับว่า ทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาว่าจ้างนักร้อง) ตามฟ้องจริง โดยมิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญาดังกล่าว เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยยอมรับว่าให้ทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาว่าจ้างนักร้อง) กับโจทก์ โดยไม่จำต้องอาศัยหนังสือสัญญาจ้างเป็นหลักฐานในคดี แม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ และตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าต้องปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจมีการปิด และขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว หนังสือมอบอำนาจจึงใช้บังคับได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า สัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาว่าจ้างนักร้อง) เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาดังกล่าว ระบุว่าโจทก์มีหน้าที่บันทึกเสียง จัดทำแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง คอมแพกดิสก์ วีดีโอ หรือโสตทัศนวัสดุอื่นใดทุกชนิด รวมทั้งมีหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อชื่อเสียงของจำเลยเองทั้งหมด ดังนั้นโจทก์จึงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดทุน ซึ่งต่างจากจำเลยซึ่งเพียงแต่ลงทุนแรงกายเป็นหลักเท่านั้น การที่สัญญาดังกล่าวจะระบุให้โจทก์ได้สิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ของจำเลยบางส่วนภายในกำหนด 5 ปี นับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควร ซึ่งหลังจากสิ้นสุดสัญญา จำเลยก็สามารถแสวงหารายได้จากการมีชื่อเสียงของตนได้เอง หาใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดเสียทีเดียว ทั้งจำเลยก็สมัครใจทำสัญญาโดยยอมรับค่าตอบแทนที่โจทก์กำหนดให้โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านมาแต่แรก สัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาว่าจ้างนักร้อง) เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในเชิงการประกอบธุรกิจโดยชอบจึงไม่เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่า สัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาว่าจ้างนักร้อง) เลิกกันแล้วหรือไม่ เห็นว่า การที่นายชาญเจรจาต่อรองไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย โดยมีการต่อรองให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และโจทก์ยินยอมยกเลิกสัญญา และต่อมามีการนัดหมายส่งมอบเงินกัน ซึ่งขณะส่งมอบเงิน ได้กระทำที่บ้านของนายชาญ โดยนายณรงค์ บิดาจำเลยเป็นผู้ส่งมอบเงิน 3,000,000 บาท ให้แก่นายณรงค์ ต่อหน้านายชาญ ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยรับรู้และยินยอมให้นายชาญเป็นตัวแทนของจำเลยในการเจรจาไกล่เกลี่ยแล้ว การที่จำเลยนำสืบอ้างว่านายชาญเจรจาต่อรองโดยโจทก์เรียกค่าเสียหายเพียง 1,000,000 บาท นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำนายชาญมาเบิกความยืนยันให้เห็นเป็นจริงดังข้ออ้างแต่อย่างใด ซึ่งหากนายชาญและนายณรงค์ตกลงค่าเสียหายเพียง 1,000,000 บาท กันจริง ในวันที่นายณรงค์ บิดาจำเลยมอบเงินให้แก่นายณรงค์ โจทก์ก็ต้องคืนหนังสือสัญญาให้ แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่ายังไม่มีการส่งมอบหนังสือสัญญาคืนให้แก่จำเลยและในวันดังกล่าวนายชาญยังเขียนบันทึกรับว่าจะจัดการเรื่องเงิน 3,000,000 บาท ให้มอบให้แก่นายณรงค์ ประกอบกับตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 ปรากฏว่า นายมุนี พยานโจทก์ แถลงว่า ปลายปี 2542 นายมุนี นายชาญ และนายณรงค์ เจรจาตกลงค่าเสียหายที่จำเลยจะชดใช้ให้โจทก์ ตัวแทนฝ่ายจำเลยคือนายชาญตกลงให้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4,000,000 บาท โดยจะชำระงวดแรก 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายในปี 2543 ซึ่งทนายจำเลยยอมรับตามที่นายมุนีแถลงทุกประการ ทนายโจทก์จึงไม่ติดใจสืบนายมุนี โดยนายมุนีได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวด้วย ย่อมแสดงว่าโจทก์และจำเลยแสดงเจตนาเลิกสัญญากันแล้ว โดยจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,000,000 บาท สัญญาว่าจ้างร้องเพลง (สัญญาว่าจ้างนักร้อง) จึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์และจำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยโจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้เงินตอบแทนในส่วนที่เหลือ 3,000,000 บาท ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก และวรรคสาม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาว่า บิดามารดาของจำเลยเป็นผู้ทำผลงานเพลงชุด ขอฝากเพลงแทนใจไม่ใช่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้กระทำผิดสัญญา และฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้แต่แรก โดยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลย ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นวันผิดนัดก่อนโจทก์ฟ้องคดี จึงเป็นการเกินคำขอไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยคงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปเท่านั้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share