คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การทำประโยชน์กับการแบ่งแยกการครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษากับผู้ร้องนั้น การครอบครองอาจยังไม่มีการทำประโยชน์ก็ได้ ดังนี้เมื่อจำเลยกับผู้ร้องได้ตกลงแบ่งแยกที่ดินกันก่อนที่โจทก์จะรับจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยและก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยกับผู้ร้อง โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีได้เพียงเท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ผู้ร้องชอบที่จะขอกันส่วนที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกตามข้อตกลงดังกล่าวของผู้ร้องออกก่อนขายทอดตลาดได้แม้ยังไม่มีการทำประโยชน์ก็ตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกชำระเงิน4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแทน หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3229 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 4 ที่จำนองไว้แก่โจทก์ และจะมีการขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแปลงนี้ จำนวน 250 ส่วน ใน 752 ส่วน จึงขอกันส่วนที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ร้องทางด้านทิศตะวันออกจำนวน 250 ส่วน ซึ่งมีอาณาเขตติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3230 ของผู้ร้อง โดยผู้ร้องและจำเลยที่ 4 ได้ทำข้อตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันแล้วขอให้กันส่วนเฉพาะที่ดินของผู้ร้องเพื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้มีเจตนาแบ่งแยกที่ดินพิพาทจริง และในการบังคับคดีผู้ร้องก็มิได้คัดค้านหรือขอกันส่วนไว้ทั้งที่ดินพิพาทก็มิได้ติดต่อกับที่ดินของผู้ร้องและถ้ามีการกันส่วนไปจะทำให้ที่ดินที่เหลือบางส่วนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องกันส่วนที่ดินด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 3229 ตำบลพระโขนงฝั่งเหนือ อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร จำนวน 250 ส่วน ใน 752 ส่วน ออกจากการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์นำยึด

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 3229 ตำบลพระโขนงฝั่งเหนือ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา ทิศตะวันออกของที่ดินพิพาทมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3230 ซึ่งผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยซื้อมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 4 กับผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์รวมเป็นจำนวน 250 ส่วน ใน 752 ส่วนซึ่งผู้ร้องเสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 875,000 บาท เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2532 ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย ร.14 ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 4 กับผู้ร้องยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท มีการเลื่อนการรังวัดและนำชี้แนวเขตต่อมาจนกระทั่งวันที่ 22 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 4 กับผู้ร้องจึงขอยกเลิกคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเสีย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2535 จำเลยที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 4 ไว้แก่โจทก์และต่อมาจำเลยที่ 4 ถูกศาลพิพากษาให้บังคับจำนองแก่ที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องจะขอกันส่วนในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายปัญญา ณ นคร พยานผู้ร้องซึ่งรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายรังวัดที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศว่า ก่อนที่จะมีการยื่นคำขอเพื่อรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ผู้ยื่นคำขอจะต้องมีการตกลงเกี่ยวกับการครอบครองมาก่อนแล้ว และในวันที่ 22 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 4กับผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดแล้วแต่ไม่สามารถนำชี้เขตที่ดินได้เนื่องจากตกลงกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ได้ จึงมีการยกเลิกคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในวันเดียวกันตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ร.13 คำเบิกความของนายปัญญาดังกล่าวรับฟังได้เพราะโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น และเมื่อรับฟังประกอบกับคำเบิกความของนายสอิ๊ด แสงสุวรรณ สามีของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องด้วยแล้ว เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 4 กับผู้ร้องตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทกันเป็นส่วนสัดแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม แม้ตัวผู้ร้องจะมิได้มาเบิกความ ที่โจทก์นำสืบและอ้างในฎีกาว่า เมื่อไปนำยึดที่ดินพิพาทไม่ปรากฏว่ามีการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่าการทำประโยชน์กับการแบ่งแยกการครอบครองเป็นคนละเรื่องกันการแบ่งแยกการครอบครอง อาจยังไม่มีการทำประโยชน์ก็ได้ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 4 กับผู้ร้องได้ตกลงแบ่งแยกที่ดินพิพาทกันก่อนที่โจทก์จะรับจำนองที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 4 และก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ ข้อตกลงนี้ย่อมผูกพันจำเลยที่ 4 กับผู้ร้อง โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีได้เพียงเท่าที่จำเลยที่ 4 มีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้นและผู้ร้องชอบที่จะขอกันส่วนที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกก่อนขายทอดตลาดได้”

พิพากษายืน

Share