คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6908/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ จ. ให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินและหุ้นบริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด ซึ่งหุ้นดังกล่าวเจ้ามรดกได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ประสงค์ขอโอนหุ้นให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมของจำเลยที่ 1 และที่ประชุมบริษัทมีมติอนุมัติโจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาต่อศาล คำร้องขอของโจทก์เป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 254 (3) ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างมาในคำร้องแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะดำเนินการให้มีการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่ทายาทจำเลยที่ 1 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทายาทของจำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่บุคคลภายนอกต่อไป การบังคับคดีของโจทก์จะเกิดความยุ่งยากซับซ้อน หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างย่อมมีเหตุผลเพียงพอ ที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 255 (3) (ก) การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงว่าเป็นเช่นไรก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่ปันทรัพย์มรดกนายจ่ายตี๋ ให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม
ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาว่า ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ระบุในคำร้องว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1475 ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ที่ดินโฉนดเลขที่ 4763 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร หุ้นบริษัทเจ ที เอส จำกัด หุ้นบริษัทไทยไวร์โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) และหุ้นบริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด เป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 ซึ่งความจริงที่ดินและหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายจ่ายตี๋ ที่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ นอกจากนี้โจทก์ยังตรวจสอบพบอีกว่า จำเลยที่ 2 ได้แถลงต่อที่ประชุมบริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด แจ้งความประสงค์ขอโอนหุ้นบริษัทดังกล่าวที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นแทนนายจ่ายตี๋ให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมของจำเลยที่ 1 และที่ประชุมบริษัทมีมติอนุมัติตามคำแถลงของจำเลยที่ 2 แล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กำลังจะดำเนินการโอนทรัพย์สินที่พิพาทในคดีนี้ไปให้แก่บุคคลภายนอก ซึ่งจะทำให้โจทก์เสียหายถ้าโจทก์ชนะคดีจะบังคับคดีไม่ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังสำนักงานที่ดิน ให้ระงับการจดทะเบียนหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 1475 ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต รวมถึงที่ดินทุกแปลงที่มีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ และขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทระงับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า”คำร้องขอให้กำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์เป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (3) ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างมาในคำร้องแล้วว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะดำเนินการให้มีการจดทะเบียน แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทายาทของจำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่บุคคลภายนอกต่อไป การบังคับคดีของโจทก์จะเกิดความยุ่งยากซับซ้อน หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างย่อมมีเหตุเพียงพอที่นำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 (3) (ก) การที่ศาลชั้นต้นด่วนยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงว่าเป็นเช่นไรก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

Share