คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 5 ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพสามิตที่จะตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยให้ถือตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเมื่อโจทก์ได้นำสืบถึงคำสั่งกรมสรรพสามิต ซึ่งได้อ้างอิงถึงประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตแล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์มิได้นำสืบถึงหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดว่ามีหลักการตีความอย่างไรและการตีความได้กระทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ จึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนสรรพสามิตต่อกรมสรรพสามิตเพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนรามคำแหง โรงงานอยู่ที่ถนนลาดพร้าว โดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลสาขาปิ่นเกล้า เริ่มทำงานในเดือนธันวาคม 2536 และในวันที่ 14 มกราคม2537 เจ้าพนักงานสรรพสามิตได้เข้าตรวจค้นที่สาขาปิ่นเกล้า ยึดได้เครื่องปรับอากาศที่มิได้เสียภาษีสรรพสามิตจำนวน 455 เครื่อง เมื่อตามทางพิจารณานำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิตของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็รับว่าลำพังเพียงการตรวจดูเครื่องปรับอากาศที่ส่งไปจำหน่ายที่สาขาปิ่นเกล้าคนทั่วไปก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเครื่องปรับอากาศดังกล่าวเสียภาษีแล้วหรือไม่ แม้จำเลยที่ 3 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3เคยให้การรับสารภาพและยินยอมให้เปรียบเทียบปรับก็ตาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีเหตุระแวงสงสัยว่าจำเลยที่ 3 รู้หรือไม่ว่าเครื่องปรับอากาศของกลางที่ยึดได้จากสาขาปิ่นเกล้าเป็นสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษี จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำสินค้าของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงงานอุตสาหกรรม ย่อมเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ตอนนำสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 19,147(1) แล้วกรรมหนึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสินค้านั้นไปเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาปิ่นเกล้าเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161(1) และมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนเป็นความผิดตามมาตรา 162(1) ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามมาตรา 162(1) ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามมาตรา 162(1) ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เป็นอีกกรรมหนึ่ง
เมื่อเครื่องปรับอากาศที่ยึดได้จากสาขาปิ่นเกล้าจำนวน 455 เครื่องเป็นสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษี ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฯมาตรา 19 ห้ามมิให้นำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน เว้นแต่จะเข้ากรณียกเว้นที่กฎหมายกำหนดการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามมาตรา 147(1) และตามมาตรา 168 วรรคสอง บัญญัติว่า สินค้าในการกระทำความผิดที่มีโทษตามมาตรา 147 ให้ศาลสั่งริบเป็นของกรมสรรพสามิต ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ศาลจึงต้องริบเครื่องปรับอากาศจำนวนดังกล่าวตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฯ หาใช่เป็นการริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ไม่
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษโดยสถานเบา ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2คนละ 2,665,400 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับ จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันผลิตเครื่องปรับอากาศแล้วได้ร่วมกันนำออกจากโรงอุตสาหกรรมไปไว้ที่สถานที่อื่น ซึ่งจำเลยที่ 1และที่ 2 มีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีก่อนที่จะนำเครื่องปรับอากาศดังกล่าวออกจากโรงอุตสาหกรรม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ยื่นแบบรายการเสียภาษี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ร่วมกันมีเครื่องปรับอากาศที่ยังมิได้เสียภาษีสรรพสามิตไว้เพื่อขาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 7, 10, 19, 48,53, 132, 147, 161, 162, 164, 167, 168 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5 พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตอนที่ 3 ประเภทที่ 03.01 ท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 คำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535ประกาศกระทรวงการคลัง (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบเครื่องปรับอากาศของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 7, 10, 19, 48, 147(1),161(1), 162(1), 164, 167 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันไม่ยื่นแบบรายการภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีปรับคนละ 20,000 บาท ฐานร่วมกันนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีออกไปจากโรงอุตสาหกรรม ปรับคนละ 1,989,050 บาท ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีตามมาตรา 161(1) และฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีตามมาตรา 162(1)เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 162(1) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับคนละ 1,989,050บาท รวมปรับคนละ 3,998,100 บาท คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ2,665,400 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเครื่องปรับอากาศของกลาง 455 เครื่องเป็นของกรมสรรพสามิตข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่สำหรับจำเลยที่ 1 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 5 ได้บัญญัติว่า อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่ออธิบดีกรมสรรพสามิตเห็นว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศและมีคำวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และ (3) แห่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตลงวันที่ 22เมษายน 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30ธันวาคม 2534 ดังนั้น คำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535 จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาต่อไปว่าพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 5วรรคท้าย บัญญัติว่า การตีความให้ถือตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา แต่โจทก์มิได้นำสืบถึงหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาว่ามีหลักการตีความอย่างไรและได้ตีความถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบถึงคำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535 ตามเอกสารหมาย จ.15 และคำสั่งดังกล่าวได้อ้างอิงถึง (3) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 22 เมษายน 2528ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 ธันวาคม2534 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลสาขาปิ่นเกล้าเริ่มทำงานในเดือนธันวาคม 2536 และในวันที่ 14มกราคม 2537 เจ้าพนักงานสรรพสามิตได้เข้าตรวจค้นที่สาขาปิ่นเกล้ายึดได้เครื่องปรับอากาศที่มิได้เสียภาษีสรรพสามิต จำนวน 455 เครื่องตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิตของจำเลยที่ 1 และที่ 3แต่อย่างใด นอกจากนี้นายสันติ บุญไทย เจ้าหน้าที่บริหารงานสรรพสามิต 6ก็รับว่าลำพังเพียงการตรวจดูเครื่องปรับอากาศที่ส่งมาจำหน่ายยังสาขาปิ่นเกล้าคนทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเครื่องปรับอากาศดังกล่าวเสียภาษีแล้วหรือไม่ แม้จำเลยที่ 3 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เคยให้การรับสารภาพและจะยินยอมให้เปรียบเทียบปรับก็ตาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีเหตุระแวงสงสัยว่าจำเลยที่ 3 รู้หรือไม่ว่าเครื่องปรับอากาศของกลางที่ยึดได้จากสาขาปิ่นเกล้าเป็นสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษี จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำสินค้าของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมนั้น เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ตอนนำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 19,147(1) แล้วกรรมหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสินค้านั้นไปเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาปิ่นเกล้า เป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161(1) และมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 162(1)ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 162(1) ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เป็นอีกกรรมหนึ่ง ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่าเครื่องปรับอากาศที่ยึดได้จากสาขาปิ่นเกล้า จำนวน 455 เครื่อง มิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 19 บัญญัติว่า”ห้ามมิให้ผู้ใดนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน เว้นแต่” มาตรา 147 บัญญัติว่า”ผู้ใด (1) ฝ่าฝืนมาตรา 19 ต้องระวางโทษ” และมาตรา 168 วรรคสองบัญญัติว่า “สินค้าในการกระทำความผิดที่มีโทษตามมาตรา 147 ให้ศาลสั่งริบเป็นของกรมสรรพสามิต ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่”ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ริบเครื่องปรับอากาศของกลางเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527หาใช่เป็นการริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ดังที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบานั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2,665,400 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 7, 10, 19, 48, 147(1), 161(1), 162(1),164, 167 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันไม่ยื่นแบบรายการภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ปรับคนละ 20,000 บาทฐานร่วมกันนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีออกไปจากโรงอุตสาหกรรม ปรับคนละ5,182,590 บาท ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีตามมาตรา 161(1) และฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีตามมาตรา 162(1) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 162(1) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับคนละ5,182,590 บาท รวมปรับคนละ 10,385,180 บาท คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับคนละ 6,923,453.33 บาท หากไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเครื่องปรับอากาศของกลางรวมจำนวน 1,452 เครื่องเป็นของกรมสรรพสามิตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share