แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 มิได้บัญญัติบังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว มาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรงเพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง
ค่ารายปีตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 8 ให้ความหมายว่า คือจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ แสดงว่า ค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร
โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน ซึ่งโจทก์ยื่นแบบ ภ.ร.ด.2 แจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีในปี 2540 ถึงปี 2542 โจทก์แจ้งรายการทรัพย์สินไม่ครบตามความเป็นจริง ครั้นเทศบาลตำบลจำเลยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปสำรวจทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงยื่นแบบ ภ.ร.ด.2 แจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อประเมินภาษีในปี 2543 จำนวน 26 รายการ โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 8 รายการ แสดงว่าค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์ที่ใช้ในการประเมินเพื่อ เสียภาษีในปี 2540 ถึงปี 2542 ไม่ถูกต้องและต่ำกว่าความเป็นจริง กรณีจึงถือได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดค่ารายปีของปี 2543 เสียใหม่ได้ และการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้นำหลักเรื่องการแบ่งทำเลทรัพย์สินซึ่งมีการกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนแตกต่างกันในแต่ละทำเลมาใช้กับกรณีของโจทก์ โดยเห็นว่าทรัพย์สินของโจทก์อยู่ในทำเลที่ 2 กำหนดราคา ค่าเช่าทรัพย์สินที่เป็นอาคารในอัตรา 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยในการผลิต เช่น บ่อน้ำพื้นที่รวมและลานจอดรถพื้นที่รวมอัตรา 2 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน สำหรับพื้นที่ต่อเนื่องของโจทก์ก็กำหนดอัตรา 0.50 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งลดจำนวนเดือนในการคิดค่ารายปีเหลือแค่ 7 เดือนครึ่งแล้ว ประเมินภาษีของโจทก์เป็นเงินเพียง 486,368 บาท นับว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดค่ารายปีเพื่อประเมินภาษีของโจทก์ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ทำเลที่ตั้ง โดยรอบคอบและเหมาะสมถูกต้องแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่โดยให้โจทก์ชำระเพียง ๒๓๔,๒๑๙ บาท ให้จำเลย คืนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน ๒๕๒,๑๔๙ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท แทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินค่ารายปีเพื่อคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้วให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในปี ๒๕๔๐ เป็นเงิน ๑๘๗,๓๒๕ บาท ปี ๒๕๔๑ เป็นเงิน ๒๓๔,๒๑๙ บาท ปี ๒๕๔๒ เป็นเงิน ๒๓๔,๒๑๙ บาท ส่วนในปี ๒๕๔๓ โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษี (ภ.ร.ด. ๒) จำนวน ๒ ฉบับ แจ้งทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ๘ รายการ รวมเป็นทรัพย์สิน ๒๖ รายการ จำเลยจึงประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษี ๑,๗๓๔,๔๒๒ บาท โจทก์อุทธรณ์ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โดยขอให้คิดค่าภาษีเท่ากับปี ๒๕๔๒ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยพิจารณาแล้วแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีปี ๒๕๔๓ เป็นเงิน ๔๘๓,๓๖๘ บาท โจทก์ชำระเงินค่าภาษีจำนวนดังกล่าวแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีของจำเลยถูกต้องหรือไม่ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๑๘ บัญญัติว่า ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา จะเห็นได้ว่ากฎหมาย มิได้บัญญัติบังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว มาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง กฎหมายเพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริงและสำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ ให้ความหมายว่า คือจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอัน สมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่า ไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์และของจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงสอดคล้องต้องกันว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน ซึ่งโจทก์ยื่นแบบ ภ.ร.ด. ๒ แจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีในปี ๒๕๔๐ ถึงปี ๒๕๔๒ โจทก์แจ้งรายการทรัพย์สินไม่ครบตามความเป็นจริง ครั้นจำเลยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปสำรวจทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงยื่นแบบ ภ.ร.ด. ๒ แจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อประเมินภาษีปี ๒๕๔๓ จำนวน ๒๖ รายการ โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง ๘ รายการ แสดงว่าค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์ที่ใช้ในการประเมินเพื่อเสียภาษีในปี ๒๕๔๐ ถึงปี ๒๕๔๒ ไม่ถูกต้องและ ต่ำกว่าความเป็นจริง กรณีจึงถือได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนด ค่ารายปีของปี ๒๕๔๓ เสียใหม่ได้ ตามหลักเกณฑ์ของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. ๒๔๗๕ หาใช่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทำการประเมินกำหนดค่ารายปีของโจทก์โดยไม่นำหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ให้นำการประเมินของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นเกณฑ์การประเมินดังอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ และการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้นำหลักเรื่องการแบ่งทำเลทรัพย์สินซึ่งมีการกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนแตกต่างกันในแต่ละทำเลใช้กับกรณีของโจทก์ โดยเห็นว่าทรัพย์สินของโจทก์อยู่ในทำเลที่ ๒ กำหนดราคาค่าเช่าทรัพย์สินที่เป็นอาคารในอัตรา ๓ บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยในการผลิต เช่น บ่อน้ำพื้นที่รวมและลานจอดรถพื้นที่รวมอัตรา ๒ บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ต่อเนื่องของโจทก์กำหนดอัตรา ๐.๕๐ บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งลดจำนวนเดือนในการคิดค่ารายปีเหลือแค่ ๗ เดือนครึ่ง แล้วประเมินภาษีของโจทก์เป็นเงินเพียง ๔๘๖,๓๖๘ บาท จึงนับว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดค่ารายปีเพื่อประเมินภาษีของโจทก์โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง โดยรอบคอบและเหมาะสมถูกต้องแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นนี้ ๒,๐๐๐ บาท แทนจำเลย