คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39 วรรคสามที่กำหนดหน้าที่ของผู้ประกันตนที่จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้งภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป หากไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 39 วรรคท้าย เป็นคนละกรณีกับการที่ผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกันตามมาตรา 41(4)ซึ่งบัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น และไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้ประกันตนมีเจตนาที่จะไม่ส่งเงินสมทบหรือไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกันความเป็นผู้ประกันตนย่อมสิ้นสุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537กำหนดส่งเงินสมทบเดือนละ 144 บาท ภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปต่อมาจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 แจ้งว่าโจทก์ไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์2542 จึงสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โจทก์ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 41บัญญัติว่า ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงเมื่อผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกัน และสิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ โจทก์ได้ขาดส่งเงินสมทบติดต่อกันสามเดือน คือเดือนธันวาคม2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 แต่อ้างว่าระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ต้องไปสอนหนังสือที่ต่างประเทศและได้มอบหมายให้พนักงานของโจทก์นำส่งเงินสมทบ แต่พนักงานดังกล่าวไม่นำส่งภายในระยะเวลาไม่อาจฟังได้เนื่องจากโจทก์สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แล้ว ย่อมรู้สิทธิและหน้าที่ของตนที่ต้องนำส่งเงินสมทบทุกเดือนตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อโจทก์ขาดส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกัน ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายดังกล่าวโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2541 โจทก์ไม่ได้ส่งเงินสมทบ จำเลยได้มีหนังสือเตือนให้โจทก์นำส่ง ซึ่งโจทก์ได้นำส่งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มตามที่ถูกเตือน แต่สำหรับเดือนธันวาคม 2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 จำเลยไม่มีหนังสือเตือน และตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39 วรรคท้าย บัญญัติว่าเมื่อผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบภายในระยะเวลาผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือนย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่าต้องการให้สิทธิแก่ผู้ประกันตนในการส่งเงินสมทบสามเดือนแต่เมื่อโจทก์ประสงค์จะส่งเงินสมทบ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องรับเงินสมทบนั้น แต่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ รส.0704/1038 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 627(88)/2542 ให้จำเลยรับโจทก์เป็นผู้ประกันตามมาตรา 39 ต่อเนื่องจากเดิม

จำเลยให้การว่า โจทก์ขาดส่งเงินสมทบติดต่อกันเป็นเวลาสามเดือนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์จึงสิ้นสุดลงตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินสมทบจากโจทก์อีกขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าเท่าที่เคยปฏิบัติมาหากโจทก์ไม่ได้ส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39 วรรคสาม จำเลยจะมีหนังสือเตือนให้โจทก์ส่งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 39วรรคท้าย แต่เมื่อโจทก์ขาดส่งเงินสมทบของเดือนธันวาคม 2541ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 จำเลยกลับถือว่าความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ของโจทก์สิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 มาตรา 41(4) โดยไม่ได้มีหนังสือเตือนโจทก์ให้ส่งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มเสียก่อนตามที่เคยปฏิบัติมา ถือว่าจำเลยเลือกปฏิบัติหรือปฏิบัติผิดขั้นตอนที่เคยปฏิบัติต่อโจทก์ จึงเป็นการมิชอบ เพราะถ้าจำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์ โจทก์ก็คงนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมานั้น เห็นว่า การที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้งภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปเป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้ประกันตนที่จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน หากไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบภายในกำหนดก็ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 39 วรรคท้าย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติตอนใดบัญญัติให้จำเลยต้องมีหนังสือเตือนให้ผู้ประกันตนที่ไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งเงินสมทบไม่ครบถ้วนให้ส่งเงินสมทบและเงินเพิ่ม แม้จำเลยจะเคยมีหนังสือเตือนโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ส่งเงินสมทบภายในกำหนด ก็ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่จะต้องเตือนโจทก์ทุกครั้งตลอดไปดังที่โจทก์อ้าง และการที่ผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในกำหนดเวลาซึ่งจะต้องจ่ายเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 39วรรคท้าย ก็เป็นคนละกรณีกับที่ผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกัน เพราะถ้าผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกันมาตรา 41(4) บัญญัติให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39สิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นแต่อย่างใดกรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์มีเจตนาที่จะไม่ส่งเงินสมทบตามข้ออ้างของโจทก์หรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกัน ความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ย่อมสิ้นสุดลงตามบทกฎหมายดังกล่าว คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share