คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปีและปรับ 20,400 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 3 ไม่ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ใส่ใจในการปฏิบัติการตามที่กำหนด อันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จึงให้ยกเลิกการคุมความประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 17 วรรคสอง ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 3 มาจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 57, 67, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ปรับ 800 บาท รวมจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คนละ 40,000 บาท ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 40,800 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 1 ปี ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คนละ 20,000 บาท ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 20,400 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสี่กลับตัวเป็นพลเมืองดี ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสี่โดยให้จำเลยทั้งสี่มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก3 เดือน มีกำหนด 1 ปี และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งสี่และพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด24 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ริบของกลาง

ต่อมาพนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3ไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยที่ 3 มาสอบถามและไต่สวนพนักงานคุมประพฤติ แล้วมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ไม่ใส่ใจในการปฏิบัติตามข้อกำหนดอันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการควบคุมประพฤติและให้ลงโทษจำคุกซึ่งรอการลงโทษไว้

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ใส่ใจในการปฏิบัติตามข้อกำหนดอันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จึงให้ยกเลิกการคุมความประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ เมื่อจำเลยที่ 3 อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยที่ 3 จะฎีกาไม่ได้ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 3 มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 3

Share