คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องไม่ควบคุมดูแลโดยใกล้ชิดมิให้จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ย่อมฟังได้ว่าเป็นการรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องไม่อาจขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยและสั่งริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 8263 ระยอง ของกลาง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางคันดังกล่าวและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดขอให้คืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางและผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องอ้างว่ารถยนต์บรรทุกของกลางนั้นได้ให้จำเลยเช่า และจำเลยได้นำรถยนต์บรรทุกของกลางไปรับจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดถาวรวิศวโยธา บรรทุกดิน หิน ทราย จนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเป็นคดีนี้ แต่กลับปรากฏจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของตัวจำเลยเองว่า จำเลยได้ให้การรับสารภาพว่ารถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 8263 ระยอง เป็นของผู้ร้องจำเลยเป็นลูกจ้างผู้ร้อง มีรายได้เดือนละประมาณ 5,000 บาท ซึ่งคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเช่นนี้เป็นการให้การในทันทีภายหลังจากที่ถูกจับกุม ยังไม่มีเวลาคิดทบทวนหาเหตุผลเพื่อมาสนับสนุนผู้ร้องในการร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้แม้จำเลยจะได้เบิกความตอบคำถามติงไว้ว่าจำเลยได้ทักท้วงพนักงานสอบสวนที่ระบุในคำให้การว่าจำเลยเป็นลูกจ้างผู้ร้อง คำเบิกความดังกล่าวก็ไม่น่าเชื่อเพราะไม่มีเหตุอันใดที่จำเลยจะไปทักท้วงพนักงานสอบสวนในสิ่งที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดในทางอาญาของตน ส่วนหลักฐานอื่น ๆที่ผู้ร้องนำมาสืบไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่า สัญญาจ้างรถร่วมและบันทึกข้อตกลง ก็เป็นเอกสารที่อยู่ในความรับรู้ของผู้ร้อง และผู้ร้องสามารถจัดทำขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า จำเลยเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้อง ดังนั้น การที่ผู้ร้องไม่ควบคุมดูแลโดยใกล้ชิดมิให้จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ย่อมฟังได้ว่าเป็นการรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share