คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5475/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่ง เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์แล้วต้องถือว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ การที่จะสั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ต้องเป็นผู้สั่ง
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการต่อไป มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์โจทก์เซ็นชื่อรับทราบคำสั่งในตรายางประทับซึ่งมีข้อความว่าให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 6 มิถุนายน 2542 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว พนักงานเดินหมายรายงานเมื่อวันที่ 29 มีนาคม2542 ว่านำสำเนาอุทธรณ์เพื่อส่งให้แก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 2มีนาคม 2542 ไม่พบจำเลยทั้งสองจึงส่งไม่ได้ ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน2542 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า โจทก์มิได้ยื่นคำแถลงภายในเวลาที่ศาลกำหนด ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้แถลงขอให้ปิดหมายและเสียค่าธรรมเนียมในการปิดหมายให้แก่เจ้าหน้าที่แล้วไม่อาจรับฟังได้เมื่อโจทก์ยอมรับในฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยด้วยตนเอง แต่ส่งให้จำเลยไม่ได้ การที่โจทก์ไม่แถลงต่อศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์และสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 59,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 2มีนาคม 2542 ว่า รับอุทธรณ์ของโจทก์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งหากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการต่อไป มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2542 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองไม่ได้ โจทก์ไม่แถลงต่อศาลภายในเวลาที่ศาลกำหนด

ศาลชั้นต้นสั่งให้รวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ แต่กลับส่งไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งเป็นการข้ามขั้นตอนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์แล้วต้องถือว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ การที่จะสั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ต้องเป็นผู้สั่ง ที่ศาลชั้นต้นส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งชอบแล้ว

ปัญหาข้อที่สองมีว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการต่อไป มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ โจทก์เซ็นชื่อรับทราบคำสั่งในตรายางประทับซึ่งมีข้อความว่า ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 6 มิถุนายน 2542ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว พนักงานเดินหมายรายงานเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 ว่านำสำเนาอุทธรณ์เพื่อส่งให้แก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 ไม่พบจำเลยทั้งสองจึงส่งไม่ได้ ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2542 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์มิได้ยื่นคำแถลงภายในเวลาที่ศาลกำหนด เห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้แถลงขอให้ปิดหมายและเสียค่าธรรมเนียมในการปิดหมายให้แก่เจ้าหน้าที่แล้วนั้น โจทก์มีเพียงสำเนารายงานประจำวันสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542ระบุแต่เพียงว่าเอกสารที่รับแจ้งหาย 3. ใบเสร็จรับเงินของศาลอุทธรณ์1 ฉบับ เพียงเท่านี้ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นเอกสารที่โจทก์แถลงต่อศาลขอให้ปิดหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ยอมรับในฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองด้วยตนเอง แต่ส่งให้จำเลยทั้งสองไม่ได้ การที่โจทก์ไม่แถลงต่อศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์และสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share