แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
อาคารของโจทก์เป็นอาคารห้องหนึ่งในอาคารพิพาทซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ปลูกสร้างเป็นอาคารเดียวติดต่อกันจำนวนสิบสองห้อง การที่นายช่างของจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบอาคารพิพาทห้องอื่น ถือได้ว่านายช่างได้ตรวจสอบห้องของโจทก์ด้วยแล้วโดยไม่จำต้องตรวจสอบอาคารของโจทก์ซ้ำอีก ก่อนเกิดเหตุคดีนี้อาคารห้องแรกเคยพังลงมาเมื่อนายช่างของจำเลยที่ 1 พบว่าเสาด้านหน้าของอาคารทั้งสองห้องที่ได้ตรวจสอบหักทรุดลงมา และจะดึงโครงสร้างของห้องอื่นพังลงมาด้วย จึงฟังได้ว่าอาคารของโจทก์มีสภาพที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินแล้วเมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการแก้ไขอาคารตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ซึ่งทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจออกคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้โจทก์ระงับการใช้อาคาร รื้อถอนหรือแก้ไขอาคารของโจทก์ให้มีความปลอดภัยและต่อมาจำเลยที่ 2 ออกคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารดังกล่าวของโจทก์เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะอาคารของโจทก์มีสภาพมั่นคงแข็งแรง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการส่วนตัว อาคารของโจทก์มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินได้เช่นเดียวกับอาคารข้างเคียงรวม 11 ห้อง ก่อนออกคำสั่งจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้นายช่างตรวจสอบอาคารและการใช้อาคารของโจทก์ถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับที่ 38 (พ.ศ. 2536) แล้ว คำสั่งของจำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายโดยถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลเมืองนนทบุรี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนนทบุรี และเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ออกคำสั่งที่ นบ 5206/3904 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2537 ให้โจทก์รื้อถอนอาคารพิพาทของโจทก์ห้องเลขที่ 35/37 หมู่ที่ 2 ถนนงามวงศ์วานตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี หรือแก้ไขให้มีความปลอดภัยโดยให้วิศวกรจากสถาบันที่เชื่อถือได้เป็นผู้ดำเนินการให้เสร็จภายในกำหนด 45 วัน และห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปภายในอาคารของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการประการใดภายในกำหนดนั้น ต่อมาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเทศมนตรีเทศบาลเมืองนนทบุรีและทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ นบ 5206/415 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538 ให้โจทก์รื้อถอนอาคารของโจทก์ให้เสร็จภายในกำหนด 30 วัน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตเทศบาลและสุขาภิบาลในจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า ก่อนออกคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้สั่งให้นายช่างตรวจสอบอาคารของโจทก์และรายงานของนายช่างตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 และคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ระบุวิธีการในการแก้ไขอาคารคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวจึงไม่ชอบ คำสั่งของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์รื้ออาคารตามเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่ชอบด้วยนั้น ได้ความจากคำเบิกความ จำเลยที่ 1 ว่า ก่อนออกคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้นายช่างเทศบาลเมืองนนทบุรี ตรวจสอบอาคารพิพาทและนายช่างได้ตรวจสอบอาคารแล้วรายงานถึงเหตุผลความจำเป็นและวิธีการที่จะต้องดำเนินการเพื่อบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายนั้นด้วย ก่อนที่จะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารแล้วตามรายงานเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 เห็นว่า จากรายงานดังกล่าวได้กำหนดวิธีการในการแก้ไขอาคารพิพาทโดยให้โจทก์รื้อถอนอาคารหรือแก้ไขให้มีความปลอดภัยโดยให้วิศวกรจากสถาบันที่เชื่อถือได้เป็นผู้ดำเนินการ ถือว่าได้ระบุวิธีการในการแก้ไขอาคารแล้ว โดยไม่จำต้องมีรายละเอียดวิธีการในการแก้ไขดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด เพราะรายละเอียดวิธีการในการแก้ไขอาคารวิศวกรที่โจทก์จัดหามาจะต้องดำเนินการเองตามขั้นตอนของสภาพของอาคารจนกว่าอาคารจะมีความปลอดภัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายช่างไม่ได้ตรวจสอบห้องของโจทก์นั้น ได้ความว่านายช่างของเทศบาลเมืองนนทบุรีได้ตรวจสอบอาคารพิพาทห้องเลขที่ 35/39 และเลขที่ 35/40 ซึ่งปลูกเป็นอาคารเดียวกันกับห้องของโจทก์ ถือได้ว่านายช่างได้ตรวจสอบห้องของโจทก์ด้วยแล้ว ดังนั้น เมื่อนายช่างที่จำเลยที่ 1 กำหนดรายงานว่าอาคารพิพาทของโจทก์อยู่ในสภาพที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน และเสนอความเห็นว่าให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขอาคารให้มีความปลอดภัย การที่จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีรายการแนบท้ายคำสั่งระบุให้โจทก์แก้ไขอาคารให้มีความปลอดภัย โดยให้วิศวกรจากสถาบันที่เชื่อถือได้เป็นผู้ดำเนินการถือได้ว่าได้ระบุวิธีการในการแก้ไขอาคารแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และกฎกระทรวง ฉบับที่ 38 (พ.ศ. 2536) ข้อ 3 เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจำเลยที่ 2 ซึ่งทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจออกคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารตามเอกสารหมาย จ.4 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 46 วรรคสองได้
อาคารพิพาทได้ปลูกสร้างมานาน 15 ปีแล้ว และเป็นอาคารพาณิชย์4 ชั้น เดิมมี 12 ห้อง ปลูกสร้างเป็นอาคารเดียวติดต่อกันทั้งสิบสองห้องก่อนเกิดเหตุคดีนี้อาคารห้องแรกเคยพังลงมา นายช่างเทศบาลเมืองนนทบุรีพบว่า เสาด้านหน้าระหว่างห้องเลขที่ 35/39 กับเลขที่ 35/40 หักทรุดลงมาหากช่วงกลางพังทรุดลงมาก็จะดึงโครงสร้างของห้องอื่นพังลงมาด้วยเมื่อปรากฏว่าอาคารดังกล่าวทั้งสิบเอ็ดห้อง รวมทั้งห้องพิพาทของโจทก์ได้ปลูกสร้างในคราวเดียวกัน วัสดุที่ใช้เป็นชนิดเดียวกัน ทั้งอาคารห้องเลขที่ 35/39 และเลขที่ 35/40 ได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว จึงไม่จำต้องกำหนดให้นายช่างไปตรวจสอบอาคารพิพาทของโจทก์ซ้ำอีก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอาคารพิพาทของโจทก์มีสภาพที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินแล้ว คำสั่งของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน