แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมิได้ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายภายในกำหนดเวลาโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยส่งมอบโดยระบุว่าขอสงวนสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าปรับตามสัญญาจากจำเลยด้วยแสดงว่าโจทก์ไม่มีความประสงค์จะเลิกสัญญากับจำเลยจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งมอบสิ่งของให้ถูกต้องตามสัญญาเมื่อจำเลยส่งมอบแล้วแต่สิ่งของนั้นไม่ถูกต้องตรงตามสัญญาก็ต้องถือว่าจำเลยมิได้ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายภายในกำหนดเวลาโจทก์ได้ให้โอกาสจำเลยเพื่อให้ปฎิบัติตามสัญญาแต่ในขณะเดียวกันระยะเวลาที่ล่วงเลยมานั้นก็ยังคงถือว่าจำเลยปฎิบัติผิดสัญญาและต้องชำระค่าปรับจากการส่งมอบสิ่งของล่าช้ากว่ากำหนดจนกระทั่งโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฎิบัติตามสัญญาต่อไปได้จึงมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาซึ่งตามสัญญาข้อ9วรรคสามมีข้อความว่าในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจจะปฎิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันตามสัญญาข้อ7กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ8วรรคสองนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาก็ได้ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ9มิใช่ตามสัญญาข้อ8โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับตามข้อสัญญาดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายเครื่องตัดหนังคิ้วและตีเบอร์พื้นในแบบรุ่น 352 มีคุณสมบัติและลักษณะถูกต้องตามแคตตาล็อกและรายละเอียดแนบท้ายสัญญา 1 เครื่องราคา 318,236 บาท กำหนดส่งมอบภายใน 180 วัน นับแต่วันทำสัญญาถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ครั้นครบกำหนดส่งมอบสินค้า จำเลยที่ 1ไม่ส่งมอบสินค้าแก่โจทก์ จนวันที่ 17 มีนาคม 2531 จึงได้ส่งมอบสินค้า ปรากฎว่าสินค้าที่ส่งมอบไม่เป็นไปตามรายละเอียดที่กำหนดในสัญญา แคตตาล็อกและรายละเอียดแนบท้ายสัญญา กล่าวคือ ชิ้นส่วนประกอบบางชิ้นไม่ใช่ของใหม่ ตามสัญญาระบุสินค้าแบบรุ่น 352แต่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรุ่น 352-60 ซึ่งเป็นแบบที่มีพูลเลย์ขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดในสัญญา โจทก์จึงติดต่อจำเลยที่ 1 ให้รับสินค้าคืนไปและส่งมอบสินค้าให้ถูกต้องตรงตามสัญญาโดยสงวนสิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับและค่าเสียหาย อันเกิดจากการส่งสินค้าล่าช้า ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฎิบัติตามสัญญาได้ จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2531 สำหรับเบี้ยปรับนับถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสินค้าถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน131,113.23 บาท โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเบี้ยปรับและดอกเบี้ย 133,968.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 131,113.23 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเบี้ยปรับขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 131,113.23บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 27ตุลาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238, 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2530 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องตัดหนังคิ้วและตีเบอร์พื้นในแบบรุ่น 352 ผลิตจากโรงงานอัลบีโก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน1 เครื่อง ราคา 318,236 บาท กำหนดส่งมอบสินค้าภายใน 180 วันนับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไปตามสัญญาซื้อขายเครื่องตัดหนังคิ้วและตีเบอร์พื้นในเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยที่ 1 ได้ให้ธนาคารทหารไทยจำกัด ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 แต่ปรากฎว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ทันตามกำหนด โจทก์จึงมีหนังสือเตือนให้ส่งสินค้าภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.5เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามสำเนาใบส่งของ ใบกำกับสินค้าและใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8กรรมการตรวจรับได้นัดทดสอบสมรรถนะของเครื่องจักรและตรวจรับมอบสินค้าวันที่ 4 เมษายน 2531 ผลการทดสอบปรากฎว่าสินค้าไม่ถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2531 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.15
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิจะปรับจำเลยทั้งสองตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายเครื่องตัดหนังคิ้วและตีเบอร์พื้นในเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 9 หรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายภายในกำหนดเวลาคือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยที่ 1ส่งมอบสิ่งของดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยในหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวโจทก์ได้ระบุไว้ด้วยว่า ขอสงวนสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าปรับและค่าเสียหายตามสัญญาจากจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีความประสงค์จะเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แต่ต้องการให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1มีหน้าที่จะต้องส่งมอบสิ่งของให้ถูกต้องตามสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1ส่งมอบแล้วแต่สิ่งของนั้นไม่ถูกต้องตามสัญญาก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1มิได้ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายภายในกำหนดเวลา โจทก์ได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 เพื่อให้ปฎิบัติตามสัญญา แต่ในขณะเดียวกันระยะเวลาที่ล่วงเลยมานั้น ก็ยังคงถือว่าจำเลยที่ 1 ปฎิบัติผิดสัญญาและต้องชำระค่าปรับจากการส่งมอบสิ่งของตามสัญญาล่าช้ากว่ากำหนด จนกระทั่งโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฎิบัติตามสัญญาต่อไปได้ จึงมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.15ซึ่งตามสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 9 วรรคสาม มีข้อความว่า “ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจจะปฎิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8 วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาก็ได้” ปรากฎว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิ่งของตามสัญญาและแจ้งไปด้วยว่าโจทก์สงวนสิทธิที่จะปรับโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาในระหว่างที่มีการปรับโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฎิบัติตามสัญญาได้โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 9 มิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 8 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับตามฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ว่า ให้ บังคับ ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น