คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของ ส. ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ง. เจ้ามรดก เมื่อ ง. ถึงแก่ความตายทรัพย์สินของ ง. เป็นมรดกตกได้แก่ ส. กับทายาทอื่นของ ง. แต่ ส. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จำเลยจะแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ง. โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ส. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของ ง. แต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามให้ได้รับความเสียหาย หากข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้อง จำเลยย่อมมีหน้าที่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. หรือไม่ การที่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามอยู่ในตัว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและขอแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสงวนชำระเงิน 238,100.46 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 238,100.46 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาและยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายต่อศาลฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามและสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์และสำเนาคำร้องไปยังจำเลย เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยแถลงคัดค้านคำร้องของโจทก์ทั้งสามภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ แต่จำเลยมิได้แถลงคัดค้านคำร้องของโจทก์ทั้งสาม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาโดยมิได้สั่งอนุญาตในคำร้อง แต่ถือได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามเป็นลำดับไป โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสงวนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ตรงกันข้ามโจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องไว้อย่างชัดแจ้งว่าเมื่อนางสงวนถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินของนางสงวนย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังนายสุธนบิดาของโจทก์ทั้งสามกับทายาทของนางสงวน แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสงวนไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทจนนายสุธนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ทรัพย์มรดกของนางสงวนที่ตกเป็นของนายสุธนย่อมตกทอดไปยังโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของนายสุธนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุธนหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามระบุว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของนางสงวน โดยโจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า เมื่อนางสงวนถึงแก่ความตายทรัพย์สินของนางสงวนเป็นมรดกตกได้แก่นายสุธนกับทายาทของนางสงวน แต่จำเลยยังไม่ทันได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท นายสุธนก็ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของนายสุธนจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของนางสงวน แต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามให้ได้รับความเสียหาย ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าหากได้ความตามคำฟ้อง จำเลยย่อมมีหน้าที่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุธนหรือไม่ การที่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามอยู่ในตัว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่ผู้จัดการมรดกของนายสุธนจึงไม่มีหน้าที่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share