คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ไม่ว่าฎีกาของโจทก์จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวทั้งสิ้น
บทบัญญัติ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224ตอนแรกระบุให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกา แต่ข้อความถัดไปก็ระบุให้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นและมีบทบังคับชัดเจนว่าให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาดังนั้น แม้คำขอท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งจะระบุขอให้ส่งไปยังศาลอุทธรณ์ด้วยเหตุผิดหลงใด ๆ ก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาพิจารณาจึงจะเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 224

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2542ว่า “ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ไม่รับฎีกา”ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2542 โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า “คำร้องของโจทก์เป็นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของโจทก์ จึงต้องส่งศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เมื่อคำร้องของโจทก์ขอให้ส่งไปยังศาลอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง จึงไม่รับคำร้องของโจทก์”

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 224 บัญญัติว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา ผู้ฎีกาอาจยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลฎีกาได้ คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่งแล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกา เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวตอนแรกจะระบุให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกาแต่ข้อความถัดไปก็ระบุให้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และมีบทบังคับชัดเจนว่าให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำร้องของโจทก์แล้วเห็นว่าเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาของศาลชั้นต้น จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลฎีกาทุกกรณีตามบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งคดีนี้เมื่อพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2542แล้ว เห็นได้ชัดแจ้งว่าโจทก์มีความประสงค์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของโจทก์ ดังนั้น แม้คำขอท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจะระบุขอให้ส่งไปยังศาลอุทธรณ์ด้วยเหตุผิดหลงใด ๆ ก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะส่งคำร้องฉบับนี้ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาจึงจะเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224ด้วยเหตุดังวินิจฉัยข้างต้น จึงให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับคำร้องฉบับนี้เสีย และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามคำร้องของโจทก์ที่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2542 ไปเลยโดยมิต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอีก พิเคราะห์แล้วคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 บัญญัติห้ามมิให้คู่ความฎีกาดังนั้น ไม่ว่าฎีกาของโจทก์จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมาย ก็ย่อมต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวทั้งสิ้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว”

พิพากษาให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์

Share