แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีมีประเด็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ หรือโจทก์ไม่มาทำงานเองเพราะกลัวความผิดที่ยอมให้บุคคลภายนอกนำสิ่งของเข้ามาไว้ในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1โดยพลการ ที่จำเลยที่ 5 จะนำ ย. มาสืบว่าโจทก์เป็นผู้นำ ภ. ซึ่งตามทางพิจารณาคือบุคคลภายนอกที่จำเลยทั้งห้าอ้างไว้ในคำให้การขนสิ่งของเข้ามาในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการ จึงเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี จำเลยที่ 5 นำสืบได้แต่ที่จำเลยที่ 5 จะนำสืบ ย. ว่าโจทก์เก็บค่าไฟฟ้าจาก ย. แล้วไม่นำไปชำระจนถูกการไฟฟ้าฯ ตัดไฟฟ้าในโกดังของจำเลย กับที่จำเลยที่ 5 จะนำ ว. มาสืบว่าโจทก์เบิกความเท็จว่าเป็นผู้นำ ว. มาทำงานกับจำเลยนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีและไม่ใช่การนำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างว่าคำเบิกความของโจทก์ไม่ควรเชื่อฟังอันเป็นการพิสูจน์ต่อพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120 ที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำ ว. และ ย. มาสืบในข้อหลังจึงชอบแล้ว แต่ที่ไม่อนุญาตให้นำ ย. มาสืบข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้นำ ภ. ขนสิ่งของ เข้ามาในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏสาเหตุ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน5,508 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 4,860 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำค้างจ่ายจำนวน6,120 บาท ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีและค่าชดเชยจำนวน 48,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหาให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วให้โจทก์เป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อน เมื่อจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบทีหลังนำพยานเข้าสืบได้ 2 ปากแล้ว ทนายจำเลยทั้งห้าแถลงว่าประสงค์จะนำนายวีระ อักโขรัมย์ มาสืบว่าโจทก์เบิกความเท็จว่าเป็นผู้นำนายวีระมาทำงานกับจำเลย และจะนำนายหยัดวิเชียรเลียบ มาสืบว่าโจทก์เก็บเงินค่าไฟฟ้าจากนายหยัดแล้วไม่นำไปชำระจนการไฟฟ้าฯ ตัดไฟฟ้าในโกดังของจำเลย กับโจทก์เป็นผู้นำนายภูมิศักดิ์ขนของเข้ามาในโกดังของจำเลยอีกเพียง 2 ปาก
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าพยานทั้งสองปากที่จำเลยทั้งห้าจะนำเข้าสืบไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้านำนายวีระและนายหยัดเข้าสืบแล้ววินิจฉัยว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 5 แสดงต่อโจทก์ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดการเลิกจ้างของจำเลยที่ 5 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 5,250 บาท ค่าชดเชยจำนวน 48,600 บาท กับค่าเสียหาย 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและชำระค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 4,860 บาท กับค่าจ้างขั้นต่ำค้างจ่ายจำนวน 6,084 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 มีนาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่าคำสั่งศาลแรงงานกลางให้งดสืบพยานไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้ว่าจำเลยทั้งห้าไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มาทำงานเอง เหตุเพราะโจทก์ยอมให้บุคคลภายนอกนำสิ่งของเข้ามาไว้ในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการก่อนที่บุคคลภายนอกจะมาติดต่อขอเช่า ซึ่งในที่สุดตกลงเรื่องค่าเช่ากันไม่ได้ จำเลยที่ 5สอบถาม โจทก์ปฏิเสธไม่ได้รู้เห็นเป็นใจและอ้างว่าได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว จำเลยที่ 5 จึงให้โจทก์ไปคัดสำเนาบันทึกประจำวันมาแสดง โจทก์ไม่นำมาแสดงและไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อ้างว่าถูกเลิกจ้าง คดีจึงมีประเด็นว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์ หรือโจทก์ไม่มาทำงานเองเพราะกลัวความผิดที่ยอมให้บุคคลภายนอกนำสิ่งของเข้ามาไว้ในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการแม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ก็ต้องพิจารณารวมไปถึงว่าโจทก์ไม่มาทำงานเองเพราะกลัวความผิดที่ยอมให้บุคคลภายนอกนำสิ่งของเข้ามาไว้ในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 หรือไม่ด้วย ที่จำเลยที่ 5 จะนำนายหยัด วิเชียรเลียบ(ตามบัญชีพยานจำเลยลงวันที่ 31 มีนาคม 2542 อันดับ 6 ระบุว่านายพยัด วิเชียรเลียบ) มาสืบว่าโจทก์เป็นผู้นำนายภูมิศักดิ์ซึ่งตามทางพิจารณาคือบุคคลภายนอกที่จำเลยทั้งห้าอ้างไว้ในคำให้การขนสิ่งของเข้ามาในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการ จึงเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ชอบที่จำเลยที่ 5 จะนำสืบได้ ส่วนที่จำเลยที่ 5 จะนำสืบนายหยัดว่าโจทก์เก็บเงินค่าไฟฟ้าจากนายหยัดแล้วไม่นำไปชำระจนถูกการไฟฟ้าฯ ตัดไฟฟ้าในโกดังของจำเลย กับที่จำเลยที่ 5 จะนำนายวีระ อักโขรัมย์ (ตามบัญชีพยานจำเลยลงวันที่ 31 มีนาคม 2542 อันดับ 4 ระบุว่านายวิละ อะโขรัมย์) มาสืบว่าโจทก์เบิกความเท็จว่าเป็นผู้นำนายวีระมาทำงานกับจำเลยนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีและไม่ใช่การนำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างว่าคำเบิกความของโจทก์ไม่ควรเชื่อฟังอันเป็นการพิสูจน์ต่อพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120 เพราะจำเลยที่ 5 จะนำสืบ เพื่อหักล้างคำเบิกความของโจทก์ที่เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับนายวีระเข้าทำงาน และนายหยัดไม่ได้เอาเงินค่าไฟฟ้ามาให้โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้นำไปชำระค่าไฟฟ้า เพื่อให้ศาลฟังว่าความจริงจำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นผู้รับนายวีระเข้าทำงานและโจทก์ได้เก็บเงินค่าไฟฟ้าจากนายหยัดไปแล้ว แต่ไม่นำไปชำระให้การไฟฟ้าฯ ตามที่จำเลยที่ 5 ต้องการเท่านั้น ซึ่งมิได้เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำนายวีระและนายหยัดมาสืบในข้อดังกล่าวจึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำนายหยัดมาสืบในข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้นำนายภูมิศักดิ์ขนสิ่งของเข้ามาในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน เมื่อศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำพยานที่จำเลยที่ 5สามารถนำสืบได้เข้าสืบคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางซึ่งมิได้นำพยานหลักฐานดังกล่าวมาวินิจฉัยด้วยจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยที่ 5 อีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 ให้ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำนายหยัดหรือพยัด วิเชียรเลียบเข้าสืบในข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้นำนายภูมิศักดิ์ขนสิ่งของเข้ามาไว้ในที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 โดยพลการตามที่จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้ไว้ แล้วพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง