คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์บรรยายฟ้องและเบิกความแยกการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาเป็น 3 วัน แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและเบิกความว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ขอให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 ในการนำเงินที่จำเลยที่ 2 ร่วมลงทุนค้าทองคำและอัญมณีกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีค่าดำเนินการ แล้วจำเลยที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 จำนวน 2,500,000 บาท 1,300,000 บาท และ 152,000 บาท ตามลำดับ การที่โจทก์โอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในแต่ละครั้งเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลอกลวงให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ
ที่ 3 คนละ 18 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 ให้จำคุก 1 ปี
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและให้จำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 1 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ระหว่างฎีกา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องและเบิกความแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาเป็น 3 วัน คือวันที่ 25 เมษายน 2555 วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 ก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและเบิกความว่า เมื่อระหว่างกลางเดือนเมษายน 2555 ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน 2555 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ขอให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการนำเงินจากการลงทุนของจำเลยที่ 2 ในการค้าทองคำและ
อัญมณีต่าง ๆ ร่วมกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้ใช้เงินไปในการลงทุนหมดจึงไม่มีเงินค่าดำเนินการนำเงินปันผลเข้ามาในประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าด้วยวิธีการโอนผ่านมายังบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันออกหนังสือจ่ายค่าสมนาคุณให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้สัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์จำนวน 2,500,000 บาท จำเลยที่ 3 มอบโฉนดที่ดินสามฉบับเพื่อเป็นประกันไว้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินสมนาคุณเพิ่ม และขอรับโฉนดที่ดินทั้งสามฉบับคืน โจทก์หลงเชื่อจึงส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสามฉบับคืนแก่จำเลยทั้งสี่ไป วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้โจทก์จ่ายเงินเพิ่มเติมเนื่องจากค่าธรรมเนียมที่จ่ายไปนั้นยังไม่เพียงพอ โจทก์หลงเชื่อจึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไป โดยทำหนังสือสัญญาจ่ายค่าสมนาคุณไว้และโอนเงินจำนวน 1,300,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้โจทก์โอนเงินจำนวน 152,000 บาท โดยแจ้งว่าเป็นค่าธรรมเนียมในการโอนเงินค่าสมนาคุณเข้าบัญชีบุคคลของโจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ยังหลอกลวงโจทก์อีกว่าต้องนำเงินอีกจำนวน 20,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์หลงเชื่อจึงโอนเงินให้จำเลยที่ 1 ทำให้เห็นได้ว่าการที่โจทก์โอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในแต่ละครั้ง เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลอกลวงให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 เพื่อจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการนำเงินจากการลงทุนของจำเลยที่ 2 ในการค้าทองคำและอัญมณีต่าง ๆ ร่วมกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า จึงเป็นการกระทำต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share