แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ แม้มีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(3) จำเลยย่อมอุทธรณ์คำสั่งได้ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แต่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานดังกล่าวในระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานเพื่อให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลแรงงานมีคำสั่งรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวของจำเลยไว้พิจารณานั้น เมื่อปรากฏว่าหลังจากศาลแรงงานสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่สั่งรับอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยไว้ และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของจำเลย และจำเลยได้อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้รวมมากับอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงาน ซึ่งศาลแรงงานได้สั่งรับอุทธรณ์ข้อนี้ไว้แล้วศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยอ้างว่าเพิ่งตรวจพบเอกสารและได้รับแจ้งจากการไฟฟ้านครหลวงหลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้วจึงขอเพิ่มเติมคำให้การว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและขณะที่โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ที่ 1 และที่ 3มาทำงานสายเป็นประจำอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุมและโจทก์ทั้งสามได้ร้องต่อเจ้าหน้าที่แรงงานเขตบางเขน จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานรับฟังว่า อ. พยานจำเลยเป็นผู้แจ้งการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างเนื่องจากจำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทั้งสามทำ ดังนั้น ขณะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยมิได้ติดใจหรือถือว่าโจทก์ทั้งสามกระทำความผิดจำเลยย่อมไม่อาจยกเหตุซึ่งอ้างว่าเพิ่งทราบการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งสามหลังจากเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้วขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดในการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ แม้ศาลฎีกาจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงได้จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การตามที่จำเลยอ้าง ศาลแรงงานไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเนื่องจากจำเลยขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้ว ทั้งจำเลยเคยแถลงต่อศาลว่าจะสืบพยานจำเลยให้เสร็จภายในกำหนด หากไม่อาจสืบพยานได้ทันภายในกำหนดให้ถือว่าไม่ติดใจสืบพยานจำเลยอีกต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานในการพิจารณาว่าสมควรจะอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้าง โดยโจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 1 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสามเพียงบางส่วน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 106,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 20,000 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 22,000 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 53,000 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 10,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 11,000 บาท
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยประจำโครงการก่อสร้างสำนักงานการไฟฟ้านครหลวงเขตบางเขน โจทก์ที่ 1 เป็นวิศวกรโครงการ มีหน้าที่ควบคุมดูแลและอนุมัติเงินสดของจำเลยที่หน่วยงานเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยได้ร่วมกับโจทก์ที่ 3 พนักงานบัญชีทุจริตยักยอกเงินของจำเลยหลายครั้งรวมเป็นเงินจำนวน 170,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเลขานุการมีหน้าที่ตรวจนับจำนวนคนงานที่มาทำงานให้แก่จำเลย ได้ทุจริตต่อหน้าที่โดยบันทึกจำนวนแรงงานที่ทำงานเกินความเป็นจริงคิดเป็นค่าแรงซึ่งไม่ได้มีการทำงานจำนวน 47,000 บาท โจทก์ที่ 2รับเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนเอง โดยโจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติการเบิกจ่ายเงินค่าแรงโดยรู้แล้วว่าเป็นเท็จจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสาม พร้อมฟ้องแย้งให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชดใช้เงินที่ได้ยักยอกไปจำนวน 170,000 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31สิงหาคม 2540 จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเสร็จกับให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินที่ได้ยักยอกไปจำนวน 47,000 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2541 ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ และไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้แก้คำให้การและโต้แย้งคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เดิมศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ต่อมาศาลแรงงานกลางเห็นว่าขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลแรงงานกลางยังไม่มีคำพิพากษา จำเลยไม่อาจยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งรับอุทธรณ์คำสั่ง เป็นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สำหรับประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสามทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ และโจทก์ทั้งสามกระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลยหรือไม่นั้น จำเลยไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามทุจริตต่อหน้าที่และทำให้จำเลยเสียหายแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากโครงการก่อสร้างสำนักงานการไฟฟ้านครหลวงเขตบางเขน เสร็จแล้ว จำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทั้งสามทำ สภาพเศรษฐกิจไม่ดี จำเลยประมูลงานอื่นได้แต่ค่าวัสดุก่อสร้างสูงขึ้นจึงจะคืนงานที่ประมูลได้ดังกล่าวเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากจำเลยไม่มีงานไม่เกี่ยวกับใบเบิกเงินสดย่อย คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสาม พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 159,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 30,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 33,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ แต่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ทันทีเดิมศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไว้ต่อมาได้เพิกถอนคำสั่งเป็นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าแม้ศาลแรงงานกลางสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ มีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(3) จำเลยย่อมอุทธรณ์คำสั่งได้ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แต่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางก็เพื่อให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวของจำเลยไว้พิจารณาปรากฏว่าหลังจากศาลแรงงานกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมเป็นไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยได้อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้รวมมากับอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง และศาลแรงงานกลางก็สั่งรับอุทธรณ์ข้อนี้ไว้ด้วย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ และเห็นว่าที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยอ้างว่าเพิ่งตรวจพบเอกสารและได้รับแจ้งจากการไฟฟ้านครหลวง จึงขอเพิ่มเติมคำให้การว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และขณะที่โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ที่ 1 และที่ 3 มาทำงานสายเป็นประจำอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม และโจทก์ทั้งสามได้ร้องต่อเจ้าหน้าที่แรงงานเขตบางเขน จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้จำเลยอ้างว่าเพิ่งทราบการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งสามหลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้ว แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า ร้อยตรีอารยันต์อำมาตย์โยธิน พยานจำเลยเป็นผู้แจ้งการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างเนื่องจากจำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทั้งสามทำ ดังนั้น ขณะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยมิได้ติดใจหรือถือว่าโจทก์ทั้งสามกระทำความผิดแต่อย่างใดจำเลยจะยกเหตุซึ่งอ้างว่าเพิ่งทราบการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งสามหลังจากเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้วขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดในการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหาได้ไม่ แม้ศาลฎีกาจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงได้คดีไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การตามที่จำเลยอ้าง
จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากบุตรสาวทนายจำเลยป่วย กรณีมีเหตุจำเป็นแต่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเนื่องจากจำเลยขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้ว ทั้งจำเลยเคยแถลงต่อศาลแรงงานกลางว่าจะสืบพยานจำเลยให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2541 หากไม่อาจสืบพยานได้ทันภายในกำหนดให้ถือว่าไม่ติดใจสืบพยานจำเลยอีกต่อไปเช่นนี้ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการพิจารณาว่าสมควรจะอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน