คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 65เมื่อคดีถึงพนักงานสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนจะส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีได้นั้น ผู้ต้องหานั้นต้องแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบปรับเสียก่อน ผู้ต้องหานั้นจะแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบปรับในระหว่างการพิจารณา ของศาลหาได้ไม่ คดีนี้จำเลยไม่ได้แสดงความยินยอมต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ พนักงานสอบสวนย่อมไม่จำต้องส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีก่อน ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องคดี โดยไม่ได้ส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีจึงมิใช่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันตั้งโรงงานทำนาเกลือโดยสูบและนำน้ำเกลือจากใต้ดินมาตากให้แห้ง โดยใช้เครื่องสูบน้ำเกลือขนาด 4.23 แรงม้า 1 เครื่อง และใช้คนงาน 10 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้วจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวโดยเปิดดำเนินงานทำนาเกลือโดยใช้เครื่องจักรกลและกำลังคนดังกล่าวสูบและนำน้ำเกลือจากใต้ดินแล้วนำไปตากให้แห้งเพื่อให้คนงานซึ่งมีจำนวนเกินกว่า 7 คนทำการเก็บเกลือที่แห้งแล้วอันเป็นการประกอบกิจการโรงงานเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 7, 8, 12, 43, 44,50 ทวิ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 12, 50ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 91, 83 และให้จำเลยทั้งสามหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 7, 8, 12, 43 วรรคหนึ่ง,44 วรรคหนึ่ง, 50 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 4,000 บาท ฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท รวมจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 8,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสามหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุคดีนี้เกิดระหว่างปี 2527 ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2538 ซึ่งอยู่ระหว่างพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ใช้บังคับ ต่อมาภายหลังจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2539 จำเลยทั้งสามเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและให้การรับสารภาพ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในวันเดียวกัน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในวันเดียวกัน จำเลยทั้งสาม ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง จำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามยินยอมให้คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 65 อันเป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ขอให้พิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสามไปทำการเปรียบเทียบปรับต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยทั้งสามเข้ามอบตัว พนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 บัญญัติไว้ และพนักงานอัยการโจทก์นำคดีมาฟ้องศาลในวันเดียวกันอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 65 วรรคสี่บัญญัติว่าบรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ความผิดตามมาตรา 50 วรรคสอง หรือมาตรา 52 วรรคสอง ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ถ้าเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรถูกฟ้องร้องหรือได้รับโทษถึงจำคุก และเมื่อผู้ต้องหาได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบปรับ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และวรรคห้า บัญญัติว่า ในกรณีที่พนักงานสอบสวนพบว่าผู้ใดกระทำความผิดตามวรรคสี่และผู้นั้นยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบปรับตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าเมื่อคดีถึงพนักงานสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนจะส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีผู้ต้องหานั้นต้องแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบปรับแต่คดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้แสดงความยินยอมต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยทั้งสามยินยอมให้เปรียบเทียบปรับกลับปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเพิ่งจะแสดงความประสงค์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าจำเลยทั้งสามยินยอมให้คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีเปรียบเทียบปรับจำเลยทั้งสาม จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 65 วรรคห้า ซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องแสดงความยินยอมต่อพนักงานสอบสวน ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ได้แสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนไม่จำต้องส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดี การที่พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการโจทก์โดยไม่ได้ส่งเรื่องให้แก่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีมิได้เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share