แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535มาตรา 31 กำหนดให้บริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ซึ่งได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้ว เป็นจำนวนเท่าใด มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับบุคคลภายนอกเจ้าของรถผู้ขับขี่ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ภายในกำหนดอายุความ1 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย มิใช่เป็นบุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายให้เหตุที่รถชนกันจึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 31 วรรคสองมาใช้บังคับ แต่เป็นเรื่อง ที่ผู้รับประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาจาก ผู้รับประกันภัยด้วยกันจึงต้องใช้อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 ฝ-5096กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายอุสมาช บุญมาเลิศ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีกำหนดเวลาคุ้มครอง 1 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2539จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 พ-9657 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่25 สิงหาคม 2538 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่นายอุสมาชขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฝ-5096 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยไปตามถนนเชื่อมสัมพันธ์จากด้านสี่แยกลำผักชีมุ่งหน้าสู่ด้านหนองจอก เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณปากซอยเจริญดำริ แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ได้มีผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 พ-9657 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยรับประกันภัยด้วยความเร็วและประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหลักวิ่งเข้าไปในช่องทางรถสวนเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่นายอุสมาชขับมาได้รับความเสียหายและได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามคำแหง โจทก์ฐานะผู้ที่ประกันรถยนต์ที่นายอุสมาชขับได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่นายอุสมาชจำนวน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 4 กันยายน2538 จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันก่อเหตุจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายไปจริงถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,450 บาท ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 11,450 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นให้กับนายอุสมาช บุญมาเลิศตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จำนวน10,000 บาท เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวให้ไล่เบี้ยได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้น โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 จึงขาดอายุความ
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฝ-5096กรุงเทพมหานคร จากนายอุสมาช บุญมาเลิศ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ส่วนจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 พ-9657 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่25 สิงหาคม 2538 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่นายอุสมาชขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ไปตามถนนเชือมสัมพันธ์จากสี่แยกลำผักชีมุ่งหน้าไปทางหนองจอก เมื่อถึงบริเวณปากซอยเจริญดำริได้มีผู้ขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 พ-9657กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยรับประกันภัยไว้แล่นสวนทางมาแล้วเสียหลักเข้าไปในช่องทางเดินรถที่นายอุสมาชขับมาเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน นายอุสมาชได้รับบาดเจ็บต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2538 โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้นายอุสมาช 10,000 บาท โจทก์จึงมาฟ้องไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเป็นคดีนี้ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 31บัญญัติว่า “ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอกหรือเกิดขึ้นเพราะความจงใจ หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัย เมื่อบริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใดให้บริษัทหรือพนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแล้วแต่กรณีมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคล ดังกล่าว หรือมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นได้
การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องกระทำภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย หรือภายในห้าปีนับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ให้บริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยซึ่งได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับบุคลลภายนอก เจ้าของรถผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงบริษัทผู้รับประกันภัยรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ มิใช่เป็นบุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายในเหตุที่รถชนกันแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535มาตรา 31 วรรคสองมาใช้บังคับ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้รับประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาจากผู้รับประกันภัยด้วยกันจึงต้องใช้อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2538 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน