คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะที่คนร้ายขับจักรยานยนต์ผ่านผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ได้สังเกต เมื่อคนร้ายหยุดรถผู้เสียหายไม่สนใจว่า จะหยุดรถทำไมจนกระทั่งคนร้ายลงจากรถจักรยานยนต์ เข้ามาตบที่กกหูด้านซ้ายของผู้เสียหายแล้วกระชากสร้อยคอทองคำไป ผู้เสียหายไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์ในระยะเวลากะทันหันเช่นนั้น ผู้เสียหายเป็นผู้หญิงย่อมตกใจกลัวเป็นธรรมดา ทั้งได้ความว่าเมื่อถูกตบแล้วรู้สึกมึนงงดังนั้น ที่ผู้เสียหายอ้างว่าจำจำเลยได้จึงเป็นที่น่าสงสัยอยู่ส่วนที่อ้างว่าจำจำเลยได้เพราะจำเลยสวมกางเกงขาสั้นสีดำและเสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงินนั้นก็ไม่ปรากฏว่าเสื้อยืดที่คนร้ายสวมใส่มีลักษณะพิเศษหรือจุดเด่นที่จะทำให้จดจำได้ง่ายทั้งเป็นเสื้อผ้าธรรมดาที่คนทั่วไปสวมใส่กัน เมื่อผู้เสียหายตามไปพบจำเลยและได้กล่าวหาจำเลยว่าเป็นคนร้ายที่ กระชากสร้อยคอทองคำไป ผู้เสียหายจงให้ พ. ไปตามเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ถ้าจำเลยเป็นคนร้ายจริงจำเลยย่อมหลบหนีไปเสียตั้งแต่ตอนนั้นคงไม่อยู่รอให้เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยเป็นแน่ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาทั้งของกลางก็ไม่ได้จากตัวจำเลย พยานหลักฐานโจทก์จึงยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี, 83 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 2,600 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรี ประกอบมาตรา 83 วางโทษจำคุก 21 ปี ให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง หรือใช้ราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 2,600 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้าย 2 คน ร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง 1 เส้นราคา 2,600 บาท ของนางศิริวรรณ บุญยืน ผู้เสียหายไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้ร่วมกันชิงทรัพย์หรือไม่โจทก์มีนางศิริวรรณ บุญยืน ผู้เสียหายเพียงผู้เดียวเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า วันเวลาเกิดเหตุขณะที่ผู้เสียหายเดินไปที่ตลาดร่วมพัฒนา มีชาย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์นั่งซ้อนท้ายกันขับผ่าพยานไปแล้วขับย้อนกลับมาจอดรถหน้าพยานคนขับสวมหมวกนิรภัย คนนั่งซ้อนท้ายไม่ได้สวมหมวกนิรภัย พยานจำได้ว่าเป็นจำเลย จำเลยได้ลงจากรถตรงเข้ามาหาพยานแล้วใช้มือตบที่กกหูด้านซ้ายพยานและกระชากสร้อยคอทองคำที่พยานสวมอยู่ จากนั้นจำเลยก็วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จอดรออยู่หลบหนีไป มีปัญหาว่าพยานจำจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าขณะที่คนร้ายขับรถจักรยานยนต์ผ่านพยานไป พยานว่าไม่ได้สังเกต เมื่อคนร้ายหยุดรถพยานคงไม่สนใจว่าจะหยุดรถทำไมจนกระทั่งคนร้ายคนหนึ่งลงจากรถจักรยานยนต์เข้ามาตบที่กกหูด้านซ้ายพยานแล้วกระชากสร้อยคอทองคำของพยานไปพยานเองก็คงไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์ในระยะเวลากะทันหันเช่นนั้นพยานเป็นผู้หญิงย่อมตกใจกลัวเป็นธรรมดา อีกทั้งพยานเบิกความว่า เมื่อถูกตบแล้วรู้สึกมึนงง ที่พยานอ้างว่าจำจำเลยได้จึงเป็นที่น่าสงสัยอยู่ส่วนที่พยานอ้างว่าจำจำเลยได้เพราะจำเลยสวมกางเกงขาสั้นสีดำและเสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงินนั้นก็ไม่ปรากฏว่าเสื้อยืดที่คนร้ายสวมใส่มีลักษณะพิเศษหรือจุดเด่นที่จะทำให้จดจำได้ง่าย ทั้งเป็นเสื้อผ้าธรรมดาที่คนทั่วไปสวมใส่กัน เมื่อพยานตามไปพบจำเลยและได้กล่าวหาจำเลยว่าเป็นคนร้ายที่ตกพยานและกระชากสร้อยคอทองคำไป จำเลยให้การปฏิเสธ พยานจึงให้นายพิเชษฐ์ แข็งแรง ที่ช่วยขับรถจักรยานยนต์ตามหาคนร้ายไปตามเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลย ซึ่งในช่วยระยะเวลานี้ถ้าจำเลยเป็นคนร้ายจริง จำเลยย่อมหลบหนีไปเสียตั้งแต่ตอนนั้นและคงไม่อยู่รอให้เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยเป็นแน่ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา นอกจากนั้นของกลางก็ไม่ได้จากตัวจำเลย เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่น่าสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share