แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าข้อตกลงในสัญญาเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องยึดหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม ซึ่งได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น
ก่อนที่โจทก์จะรับเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลย โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จากบริษัทในต่างประเทศซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีราคาสูงเช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลย อีกทั้งจำเลยได้ส่งร่างสัญญาตัวแทนให้แก่โจทก์ตรวจสอบก่อนที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ตามสัญญาข้อ 11.2 กำหนดให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเช่นเดียวกับที่ให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามข้อสัญญาข้อ 11.3 โจทก์จึงไม่ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับจำเลย ถือว่าการเข้าทำสัญญากับจำเลยเป็นไปด้วยความสมัครใจของโจทก์และอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบซึ่งกันและกัน และจำเลยได้นำสืบสาเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญารวมถึงพฤติการณ์อื่นๆ จะถือว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรไม่ได้ ดังนั้น ข้อตกลงที่ให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 11.3 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 จำเลยบอกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งสองฉบับชอบแล้ว เมื่อการบอกเลิกสัญญามีเหตุสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายดังนี้ คือ เงินลงทุนในการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู สาขาบางนา – ตราด จำนวน 57,214,000 บาท และสาขาวิภาวดีรังสิต จำนวน 82,685,000 บาท โจทก์เสียเงินซื้อสิทธิการเช่าและค่าเช่าผูกพันตามสัญญาเช่า เป็นเวลา 22 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2537 ถึงเดือนมิถุนายน 2559 ที่โจทก์ได้ทำสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินเพื่อตั้งที่ทำการสำนักงาน สาขาบางนา – ตราด นับแต่วันถูกบอกเลิกสัญญา ตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2559 โจทก์ต้องเสียค่าตอบแทนการเช่าเป็นจำนวน 11,578,947.37 บาท โจทก์ต้องชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2559 จำนวน 9,341,640 บาท โจทก์ต้องเสียหายจากการขายคืนอะไหล่ทั้งสองสาขาให้จำเลยหลังจากสัญญาเลิกกัน ในส่วนของสาขาบางนา – ตราด จำนวน 1,789,214.78 บาท และสาขาวิภาวดีรังสิต จำนวน 2,300,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,089,214.78 บาท แต่จำเลยไม่ยอมซื้ออะไหล่ที่เหลือ รถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยูที่เหลืออีก 4 คัน มูลค่า 11,729,000 บาท มูลค่าของรถยนต์ลดลงไปเป็นจำนวนเงิน 2,345,800 บาท ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างจำนวน 5,000,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์จะได้รับกำไรจากการเป็นตัวแทนขายรถยนต์ในปี 2543 จำนวน 6,586,818 บาท และปี 2544 จำนวน 42,843,352 บาท และต่อไปอีก 30 ปี ตั้งแต่ปี 2545 รายได้จากกำไรในการขายรถยนต์จำนวน 1,512,420,000 บาท รายได้จากการขายอะไหล่รถยนต์ 180,000,000 บาท และรายได้จากค่าแรงซ่อมรถยนต์อีกจำนวน 120,000,000 บาท รวมเป็นเงินค่าขาดประโยชน์จำนวน 1,861,850,170 บาท ความเสียหายในชื่อเสียงที่ถูกจำเลยยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถ จำนวนเงิน 100,000,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายจำนวน 2,134,104,772.15 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยจำนวน 8,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยบอกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งสองฉบับแก่โจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำแปลสัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ข้อ 11.3 กำหนดแต่เพียงว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ โดยการบอกกล่าวให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือล่วงหน้า 90 วัน และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่ได้รับการบอกกล่าวแล้วเท่านั้น หาได้กำหนดเงื่อนไขหรือเหตุที่จะทำให้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่อย่างใดไม่ ปัญหาว่าข้อตกลงดังกล่าวในสัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งสองฉบับเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์หรือไม่ โดยมาตรา 4 วรรคสามดังกล่าวได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความข้างต้นไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น
ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยคงได้ความว่า ก่อนที่โจทก์จะรับเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูของจำเลย ตัวแทนของจำเลยได้เป็นผู้ติดต่อเจรจาเพื่อขอให้โจทก์รับเป็นตัวแทนจำหน่าย และจำเลยได้ส่งร่างสัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้โจทก์ตรวจสอบก่อนที่จะมีการลงนามเข้าทำสัญญากับจำเลย อีกทั้งโจทก์ในขณะเข้าทำสัญญากับจำเลยนั้น โจทก์ก็เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อโรเวอร์ และแลนด์โรเวอร์ จากบริษัทในต่างประเทศอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพและราคาสูงเช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลย อันแสดงว่าจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้มีประสบการณ์และรอบรู้ในธุรกิจด้านนี้เป็นอย่างดีจึงประสงค์จะได้โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของตน และตามคำแปลสัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ข้อ 11.2 ยังกำหนดให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเช่นเดียวกับที่ให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 11.3 เหมือนกัน โจทก์จึงไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับจำเลยแต่อย่างใด ถือว่าการเข้าทำสัญญากับจำเลย เป็นไปด้วยความสมัครใจของโจทก์และอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบซึ่งกันและกัน ส่วนการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่กล่าวถึงเหตุแห่งการบอกเลิกว่าโจทก์ทำผิดเงื่อนไขหรือข้อตกลงในสัญญาอย่างไรบ้างนั้น นอกจากการบอกเลิกดังกล่าวจะเป็นไปตามข้อตกลงข้อ 11.3 ตามสัญญาแล้ว จำเลยก็ได้นำสืบให้เห็นถึงสาเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาไว้ด้วย โดยเฉพาะผลของการจำหน่ายรถยนต์ของโจทก์ทั้งสองสาขาไม่เป็นไปตามเป้าหมายของจำเลยที่กำหนดไว้ ทำให้จำเลยมีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ทราบเป็นระยะ จำเลยยังนำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์ของโจทก์ที่เรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยทั้ง ๆ ที่ในช่วงนั้นมีรายการส่งเสริมการขายรถยนต์ให้ลูกค้าพร้อมประกันภัยโดยไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเวลา 1 ปี จำเลยจึงหักเงินโบนัสของโจทก์เพื่อนำไปชำระคืนให้แก่ลูกค้า โดยจำเลยมีหนังสือมอบเงินชดใช้พร้อมแสดงความเสียใจแก่ลูกค้าคนดังกล่าว นอกจากนั้นจำเลยตรวจสอบพบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่ใช้ทดลองขับไปขายให้แก่ลูกค้าชื่อนายพารณในราคาของรถยนต์ใหม่จนนายพารณมีหนังสือสอบถามจำเลย ทำให้จำเลยต้องมีหนังสือชี้แจงนายพารณให้ทราบถึงความเป็นจริง ดังนี้ จะถือว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือบอกเลิกสัญญาโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำด้วยประการใด ๆ ที่เป็นการผิดสัญญาหรือผิดข้อตกลงตามสัญญาไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อตกลงที่ให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ตามข้อ 11.3 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติ หรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 จำเลยบอกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งสองฉบับชอบแล้ว เมื่อการบอกเลิกสัญญาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายอันมีเหตุสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ผิดสัญญาดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ดังนั้น สัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ข้อ 12.9 ที่กำหนดว่าเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ จะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ไม่มีผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยเป็นเงิน 8,000 บาท