แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามนิยาม “ความลับทางการค้า” และ “ผู้ควบคุมความลับทางการค้า” ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ข้อมูลการค้าซึ่งเป็นความลับทางการค้าต้องเป็นข้อมูลที่เจ้าของหรือผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ การที่มีข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับพนักงานที่ห้ามมิให้พนักงานนำข้อมูลความลับของบริษัทไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกซึ่งหากฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษได้นั้น ไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้
โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องว่า ข้อมูลตามใบเสนอราคาเป็นความลับทางการค้าที่จำเลยทั้งสองนำไปเปิดเผย แม้โจทก์ทั้งสองจะนำสืบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ทั้งสองก็เป็นเรื่องนอกฟ้อง ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 6, 33, 34, 35, 36 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 90, 91 และบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสี่ระงับการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าและข้อมูลทางการค้าของโจทก์ทั้งสองนับจากวันฟ้อง หากฝ่าฝืนให้ใช้เงินปีละ 5,000,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะหยุดการละเมิดสิทธิ ห้ามจำเลยทั้งสี่สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทจี ครอมชโรเดอร์ แอ็กติ้งเกเซิลชัฟร์ ผู้ผลิตในประเทศเยอรมนีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยและห้ามจำเลยทั้งสี่จำหน่ายสินค้าที่สั่งซื้อจากบริษัทจี ครอมชโรเดอร์ แอ็กติ้งเกเซิลชัฟร์ แก่ลูกค้าของโจทก์ทั้งสองตามรายชื่อในฟ้องและลูกค้ารายอื่นของโจทก์ทั้งสองที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อลูกค้าจากโจทก์ทั้งสอง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โจทก์ทั้งสองมีนายวิศิษฐ จิรกุลวิวัฒน์ เป็นผู้มีอำนาจทำการแทน โจทก์ที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทจี ครอมชโรเดอร์ แอ็กติ้งเกซิลชัฟร์ ประเทศเยอรมนี ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ที่ 1 ตำแหน่งพนักงานขายตามใบสมัครงานและสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจทำการแทน ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 4 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า รายชื่อลูกค้าและสถานที่ของลูกค้าโจทก์ทั้งสองเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ทั้งสองนั้น มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ให้นิยาม “ความลับทางการค้า” ว่า ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไปหรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ คำว่า “ผู้ควบคุมความลับทางการค้า” หมายความว่า เจ้าของความลับทางการค้า และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครอง ควบคุม หรือดูแลรักษาความลับทางการค้าด้วย ดังนี้เงื่อนไขหนึ่งของข้อมูลการค้าซึ่งเป็นความลับทางการค้าก็คือ ข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่เจ้าของหรือผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ ในข้อนี้นายวิศิษฐพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำข้อมูลความลับเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า ประเภทสินค้า ชื่อสินค้าราคาสินค้า รายชื่อและที่อยู่ของลูกค้าไปเปิดเผยต่อจำเลยที่ 4 ผ่านจำเลยที่ 3 เพื่อชี้ช่องให้จำเลยที่ 4 ค้าขายแข่งขันกับโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2รู้ข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาความลับดังกล่าวไว้ ไม่นำไปเปิดเผย เมื่อมีการเปิดเผยโจทก์ทั้งสองจึงได้รับความเสียหาย แต่ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีระบบการควบคุมเอกสารที่ห้ามมิให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าถึงเอกสารที่อ้างว่าเป็นความลับ การเก็บรักษาข้อมูลลูกค้าของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ปรากฏว่ามีมาตรการใด ๆ ที่จะป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหลไปถึงบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง กรณีฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองมีกฎระเบียบว่าพนักงานจะต้องเก็บข้อมูลความลับดังกล่าวไว้ไม่นำไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก และสมมุติว่าพนักงานทุกคนรู้ข้อมูลนี้ก็ต้องปกปิดไว้ตามกฎระเบียบ ของบริษัท จึงถือได้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่เหมาะสมแล้วนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองเป็นการอ้างข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับพนักงานที่ห้ามมิให้ พนักงานนำข้อมูลความลับของบริษัทไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอก ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษได้นั้น ลำพังเพียงข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานย่อมไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ เพราะมิฉะนั้นข้อมูลของโจทก์ทั้งสองแทบทุกเรื่องก็อาจถือว่าเป็นความลับทางการค้าได้ ซึ่งเห็นได้ว่ามิใช่เจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อและสถานที่อยู่ของลูกค้าของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ถือว่าเป็นความลับทางการค้า ส่วนโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า ข้อมูลในใบเสนอราคาตามเอกสารหมาย จ.12 ของโจทก์ทั้งสองที่เสนอขายให้แก่บริษัทซี ไอ เอ็ม เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัดเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้ความลับทางการค้าเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าและรายละเอียดสถานที่อยู่ของลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องสงวนไว้ไม่เปิดเผย เพราะตนได้มาหรือล่วงรู้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยโจทก์ทั้งสองมีมาตรการรักษาความลับทางการค้า สงวนข้อห้ามในการเปิดเผยข้อมูลการค้าและความลับทางการค้าไว้แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำข้อมูลความลับไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ทั้งสองรับความเสียหาย ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสอง ข้อมูลที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า คือข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าและสถานที่อยู่ของลูกค้าของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องว่า ข้อมูลตามใบเสนอราคาตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นความลับทางการค้าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปเปิดเผย แม้โจทก์ทั้งสองจะนำสืบในทำนองว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง ก็เป็นเรื่องนอกฟ้อง ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้ออื่น ๆ ไม่เป็นสาระแก่คดี เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
เมื่อคดีรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ