แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าว กล่าวถึงการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 โดยชัดแจ้งแล้วการที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี ย่อมหมายถึงมาตรา 160 ตรี ที่เพิ่มเติมแล้วนั่นเอง แม้โจทก์ไม่ได้อ้าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ก็เป็นเพียงโจทก์อ้างบทกฎหมายไม่ครบถ้วนชัดเจนเท่านั้น และถือว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี ซึ่งเพิ่มโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 43, 152, 157, 160, 160 ตรี, 162 และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22 (2), 43 (2) (4) (8), 152, 157, 160 วรรคสาม, 160 ตรี วรรคสี่ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 11 การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้นางแก้ว รักชาติ ถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าวกล่าวถึงการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 11 โดยชัดแจ้งแล้ว การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี ย่อมหมายความถึงมาตรา 160 ตรี ที่เพิ่มเติมแล้วนั่นเอง แม้โจทก์ไม่ได้อ้างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 11 ก็เป็นเพียงโจทก์อ้างบทกฎหมายไม่ครบถ้วนชัดเจนเท่านั้น และถือว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 11 แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน