คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4518/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เลิก โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ผลเท่ากับยกฟ้องเพราะโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย แต่คดีนี้โจทก์อ้างว่าบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว เป็นการอ้างเหตุขึ้นใหม่จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้เช่าซื้อส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อหากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนรวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ และให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการติดตามหารถยนต์ที่เช่าซื้อ ไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยตรงจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา 304,224 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน ๆ ละ6,338 บาท รวม 48 เดือน เริ่มชำระค่าเช่าซื้องวดแรกในวันที่ 5 มิถุนายน 2534 และงวดต่อไปทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์เพียง 6 งวด หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาจนถึงวันฟ้อง โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามหลายหนและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 180,000 บาท นอกจากนี้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์คันดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์ได้ในอัตราเดือนละไม่น้อยกว่า 6,000บาท ถือได้ว่าเป็นค่าใช้ทรัพย์คิดเป็นเงิน 234,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15ต่อปี ตามสัญญาเช่าซื้อและโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามสืบหารถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ข-3259 สงขลา คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 180,000 บาท อันเป็นราคารถยนต์ตามท้องตลาดในวันฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 234,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายเดือนละ 4,500 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าติดตามรถที่เช่าซื้อจำนวน 2,000 บาทแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นพ่อค้าประกอบกิจการทางการค้า การที่โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองผิดนัด คดีจึงขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1778/2536 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคันหมายเลขทะเบียน ข-3259 สงขลา คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 180,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน156,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กุมภาพันธ์2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันถัดวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแต่ไม่ให้เกิน 12 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตามเอกสารหมาย ล.1 หรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เลิก โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ผลเท่ากับยกฟ้องเพราะโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1แต่คดีนี้โจทก์อ้างว่าบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว จึงเป็นการอ้างเหตุขึ้นใหม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน2 ปีแล้วนั้น เห็นว่า ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้เช่าซื้อส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนรวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ และให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการติดตามหารถยนต์ที่เช่าซื้อไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยตรงจึงอยู่ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 5ธันวาคม 2534 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 ยังไม่เกิน 10 ปีฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share