คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399-400/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีสองสำนวนที่ศาลสั่งรวมพิจารณา คดีแรกโจทก์ที่ 1, 2 และ 3 ผู้เยาว์โดย ข. ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องเรียกค่าเสียหาย และค่าขาดไร้อุปการะในการที่มารดาโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะการกระทำละเมิดจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 40,460 บาท กับโจทก์ที่ 4 ในฐานะบิดาผู้ตายเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะต่างหากอีก 10,000 บาท รวม 50,460 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข.ไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 1, 2, 3 ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1, 2, 3 คงให้จำเลยใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 4 10,000 บาท คดีเฉพาะโจทก์ที่ 1, 2, 3 ถึงที่สุดโดยมิได้อุทธรณ์ต่อมา ดังนั้น คดีเฉพาะโจทก์ที่ 4 จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเพียง 10,000 บาท ส่วนสำนวนคดีหลังโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยรวม 49,000 บาท คดีทั้งสองสำนวนนี้จึงเป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำนวนละไม่เกินห้าหมื่นบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งคู่ความต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า น.ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้ประมาท และว่าเป็นเรื่อง บ. ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ถอยรถมาชนรถจำเลยที่ 1 ที น.ขับไปตามปกติ โดยอ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องใจความว่า นางทอง มามีสุข และโจทก์สำนวนหลังได้โดยสารรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ มีนายนุกูล บุญอยู่ ลูกจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นคนขับไปชนกับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีนายบุญมั่น สอนดี ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เป็นคนขับ โดยต่างขับด้วยความประมาท เป็นเหตุให้นางทอง มามีสุข ถึงแก่ความตายและโจทก์สำนวนหลังบาดเจ็บ โจทก์ที่ ๑, ๒, ๓ สำนวนแรกบุตรนายไข่และนางทอง มามีสุข จึงฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน ๔๐,๔๖๐ บาท กับโจทก์ที่ ๔ บิดานางทอง มามีสุข เรียกค่าขาดไร้อุปการะ ๑๐,๐๐๐ บาท รวมค่าเสียหาย ๕๐,๔๖๐ บาท โจทก์สำนวนหลังเรียกค่าสินไหมทดแทน ๔๙,๐๓๐ บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวในแต่ละสำนวนให้แก่โจทก์ในแต่ละสำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยที่ ๑ ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ ๒ ทั้งสองสำนวนต่างให้การปฏิเสธว่ามิได้ประมาท ค่าเสียหายไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วินิจฉัยว่า สำนวนคดีแรกนายไข่และนางทอง อยู่กันเป็นสามีภรรยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส นายไข่จึงมิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ ๑, ๒, ๓ ผู้เยาว์ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทน ประเด็นอื่นระหว่างโจทก์ที่ ๑, ๒, ๓ และจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๔ สำนวนคดีแรกเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท และแก่โจทก์ในสำนวนคดีหลังเป็นเงิน ๑๓,๓๓๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินทั้งสองจำนวนตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานละเมิด สำนวนคดีแรก โจทก์ที่ ๑, ๒ และ ๓ ผู้เยาว์โดยนายไข่ มามีสุข ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ฟ้องเรียกค่าเสียหายและค่าขาดไร้อุปการะในการที่มารดาโจทก์ถึงแก่ความตายจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน ๔๐,๔๖๐ บาท โจทก์ที่ ๔ ในฐานะเป็นบิดาผู้ตายเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะต่างหากอีก ๑๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท ๕๐,๔๖๐ บาท ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่านายไข่ มามีสุข มิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย ไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ ๑, ๒, ๓ ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่วินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษาให้ยกฟ้องเฉพาะโจทก์ที่ ๑, ๒, ๓ คงให้จำเลยชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ ๔ จำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท คดีเฉพาะโจทก์ที่ ๑, ๒, ๓ ถึงที่สุดโดยมิได้มีอุทธรณ์ต่อมา ดังนั้น คดีเฉพาะโจทก์ที่ ๔ จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนสำนวนคดีหลังโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยรวม ๔๙,๐๓๐ บาท คดีทั้งสองสำนวนนี้จึงเป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำนวนละไม่เกินห้าหมื่นบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งคู่ความต้องห้ามมิใช้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่๖) พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา๖ ฎีกาจำเลยที่๑ โต้แย้งคำวินิจฉัยศาลล่างทั้งสองว่าควรฟังว่า นายนุกูล บุญอยู่ จำเลยที่๑มิได้ประมาทและว่าเป็นเรื่องนายบุญมั่น สอนดี ลูกจ้าง จำเลยที่๒ ถอยรถมาชนรถจำเลยที่๑ ที่นายนุกูล บุญอยู่ ขับไปตามปกติโดยอ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน ฎีกาจำเลยที่๑ จึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่๑

Share