แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 แม้ทางพิจารณาจะฟังได้ว่า จำเลยรับเอาตัวหญิงเข้าไว้ในสถานการค้าประเวณีของจำเลยเพื่อให้ชายกระทำชำเราด้วยความสมัครใจยินยอมของหญิงเองอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ศาลก็มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ที่จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ฐานเป็นธุระจัดหาหญิงเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อุบายหลอกลวงพาตัวนางสาวนงเยาว์และนางสาวลัดดา ไปเสียจากผู้ปกครองแล้วนำไปกักขังไว้ในสถานการค้าประเวณีของจำเลยเอง แล้วจำเลยขู่เข็ญบังคับให้หญิงทั้งสองรับจ้างกระทำชำเราโดยจำเลยได้รับสินจ้างตอบแทน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283, 310, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายนพ.ศ. 2514 ข้อ 10
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 283 หากเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดก็ขอให้ลงโทษตาม มาตรา 282 ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 282 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 10 จำคุกมีกำหนด 2 ปี โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวนงเยาว์และนางสาวลัดดาอายุ 15 ปีเป็นบุตรนายคำและนางมูล เมื่อราวเดือนกันยายน 2517 หญิงทั้งสองหายไปจากบ้านที่จังหวัดเชียงราย บิดาออกตามหาแต่ไม่พบ จนกระทั่งอีก 4-5 เดือนต่อมา จึงตามไปพบหญิงทั้งสองทำการค้าประเวณีอยู่ในสถานที่ค้าประเวณีของจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยก็ยอมรับว่าเป็นเจ้าของสถานที่ค้าประเวณีที่หญิงทั้งสองทำการค้าประเวณีอยู่ การที่จำเลยรับเอาตัวหญิงทั้งสองเข้าไว้ในสถานการค้าประเวณีของจำเลยเพื่อให้ชายกระทำชำเรา แม้จะเป็นด้วยสมัครใจยินยอมของหญิงทั้งสองก็ถือได้ว่า จำเลยเป็นธุระจัดหาหญิงไว้เพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282แล้ว
พิพากษายืน