แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ค่าอ้างเอกสารตามตาราง 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ชำระตั้งแต่เมื่อส่งเอกสารเป็นต้นไป มิใช่ว่าหากไม่ชำระค่าอ้างเอกสารทันทีแล้วจะรับฟังเอกสารนั้น ๆ ไม่ได้ ผู้อ้างเอกสารย่อมมีโอกาสเสียค่าอ้างเอกสารได้เสมอ ดังนั้น เมื่อโจทก์เสียค่าอ้างเอกสารหลังจากจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ นิติกรรมที่จำเลยโอนที่พิพาทตีใช้หนี้เงินยืมให้โจทก์เกิดจากกลฉ้อฉลของโจทก์เป็นโมฆียะ แต่ ป. สามีจำเลยไม่ใช่ผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดย วิปริตหรือเป็นบุคคลที่กฎหมายให้บอกล้างโมฆียะกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 การที่ป. มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยซึ่งได้รับการยกให้มาจากบิดาก่อนทำการสมรสกับ ป. จำเลยจึงมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวได้โดย ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี นิติกรรมโอนที่พิพาทตีใช้หนี้ให้โจทก์ย่อมสมบูรณ์ แม้ไม่ได้รับความยินยอมจาก ป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 492เมื่อต้นปี 2524 จำเลยได้เช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ตกลงให้ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกปีละ 800 ถัง กำหนดชำระค่าเช่าภายในวันที่ 31มีนาคม ของทุก ๆ ปี แต่จำเลยค้างชำระค่าเช่า รวม 1,340 ถังเป็นเงิน 43,420 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่านาทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 492 จำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายจำนงค์ โกมลมล และนางวรรณศิริ หรือแฉล้ม โกมลมล ในปี 2518 จำเลยกู้เงินโจทก์ 180,000 บาท แล้วจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นประกัน ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นข้าวแทนปีละ 800 ถัง ครั้นปี2519 ได้ทำสัญญาขึ้นเงินจำนองอีก 23,000 บาท และปี 2530 อีก 43,000บาท ต่อมาโจทก์หลอกลวงให้จำเลยกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมจำหน่ายที่ดินให้โจทก์โดย เสียเปรียบ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสงสารจำเลยกับพวกที่ต้องเสียดอกเบี้ยค้างชำระเป็นข้าวต้องมาขอเพิ่มจำนองบ่อย ๆ จึงจะช่วยเหลือโดย จะให้เงินจำเลยอีก56,000 บาท แต่จำเลยกับพวกจะต้องไปทำสัญญาโอนที่ดินชำระหนี้จำนองทั้งหมดคิดเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท โดย จำเลยจะต้องไม่บอกให้สามีรู้และให้สัญญาอีกว่าหากจำเลยไถ่ถอนคืนภายใน 3 ปี โจทก์จะไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มจำเลยกับพวกอีกสองคนหลงเชื่อจึงไปทำสัญญาโอนที่ดินชำระหนี้จำนองให้แก่โจทก์ ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนคืน 3 ปีจำเลยได้ให้นางวรรณศิริกับนายเผชิญบุตรจำเลยไปขอไถ่ถอนที่ดินแต่โจทก์ไม่ยอมจะคิดราคาไถ่ถอนคืน 1,000,000 บาทเศษ จึงตกลงกันไม่ได้ ต่อมาสามีจำเลยให้ทนายความมีหนังสือถึงโจทก์บอกล้างนิติกรรมเรื่องราวโอนที่ดินจำนองชำระหนี้ แต่โจทก์ไม่ยอมรับหนังสือบอกกล่าวของทนายจำเลย เมื่อการทำนิติกรรมโอนชำระหนี้จำนองให้โจทก์สามีจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมและสามีจำเลยได้บอกล้างนิติกรรมไปแล้ว การโอนชำระหนี้จำนองจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้การโอนชำระหนี้จำนองเป็นโมฆะและให้คู่สัญญากลับคืนสู่สภาพเดิม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยหลอกลวงจำเลย สามีจำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรม เพราะสามีจำเลยรู้เห็นและให้ความยินยอมมาโดย ตลอดและรู้ว่าการโอนที่พิพาทเป็นไปโดยชอบอย่างไรก็ตามนิติกรรมการโอนที่พิพาทชำระหนี้จำนองสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วโดย สามีจำเลยไม่ต้องให้ความยินยอมด้วยเพราะการโอนที่พิพาทได้กระทำกันหลังจากพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ประกาศใช้แล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่านาและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่งที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้เสียค่าอ้างพยานเอกสารเพิ่งเสียหลังจากจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว เห็นว่าการเสียค่าอ้างเอกสารตามตาราง 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ชำระตั้งแต่เมื่อส่งเอกสารเป็นต้นไป มิใช่ว่าหากไม่ชำระค่าอ้างเอกสารทันทีแล้ว จะรับฟังเอกสารนั้น ๆ ไม่ได้ ผู้อ้างเอกสารย่อมมีโอกาสเสียค่าอ้างเอกสารได้เสมอ ดังนั้น เมื่อโจทก์เสียค่าอ้างเอกสารจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้
ปัญหาประการที่สองว่านิติกรรมโอนที่พิพาทตีใช้หนี้ให้โจทก์เป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ จำเลยอ้างว่านิติกรรมเป็นโมฆียะเพราะโจทก์ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้จำเลยทำนิติกรรมประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งสามีจำเลยไม่ให้ความยินยอมในการที่จำเลยทำนิติกรรมดังกล่าวสำหรับสาเหตุประการแรกนั้นตามทางนำสืบของจำเลยได้ความว่าโจทก์ได้หลอกลวงจำเลยโดย ได้มาที่บ้านของจำเลยแล้วพูดว่าโจทก์สงสารจำเลยหากเรื่องเงินจะช่วยเหลือได้อีก 56,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าต้องโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 492 ชำระหนี้จำนองในราคา300,000 บาทโดย ไม่ต้องบอกให้สามีทราบและยังมีเงื่อนไขต่อไปว่าภายใน 3 ปี จะไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งเมื่อครบ 3 ปี แล้วจะให้ซื้อคืนได้ ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าไม่ได้หลอกลวงจำเลยแต่เป็นข้อเสนอของจำเลยเองที่ต้องการเพิ่มเงินแล้วโอนที่ดินตีใช้หนี้ให้ เห็นว่านอกจากจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานแล้ว ยังมีนางวรรณศิริบุตรสาวเบิกความสนับสนุนอีกด้วย พยานจำเลยเบิกความสอดคล้องต้องกันและมีเหตุผล เพราะราคาที่พิพาทนั้นตามคำเบิกความของนางวรรณศิริราคาประเมินไร่ละ 10,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.20 ถึงแม้นายไพศาล ชัชวาลวงค์ เบิกความว่า ราคาประเมินไร่ละ 5,000 บาทก็ตาม แต่เป็นราคาประเมินสำหรับที่ดินที่ไม่ติดคลองชลประทาน เมื่อที่พิพาทติดคลองชลประทาน น่าจะมีราคาไร่ละ 10,000 บาท จริงที่พิพาทเนื้อที่ 63 ไร่เศษ เป็นเงิน 630,000 บาท สูงกว่าจำนวนหนี้มากนัก หากโจทก์ไม่หลอกลวงว่าจะให้ซื้อคืนแล้ว จำเลยกับพวกคงไม่โอนที่พิพาทตีใช้หนี้แน่นอน ซึ่งนางวรรณศิริเบิกความต่อไปว่าในเดือนมีนาคม 2527 ได้ไปติดต่อขอซื้อที่พิพาทคืนจากโจทก์ 2 ครั้งครั้งแรก โจทก์ให้ซื้อคืนในราคา 1,300,000 บาท ครั้งหลังราคา600,000 บาท หากรู้ว่าขอซื้อคืนในราคาเดิมไม่ได้จะไม่โอนที่พิพาทให้แน่นอน กลฉ้อฉลดังกล่าวถึงขนาดนิติกรรมจึงเป็นโมฆียะ แต่การที่นายปรีชา แข่งขัน สามีจำเลยมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.7 บอกล้างนิติกรรมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสามีจำเลยไม่ใช่ผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดย วิปริตหรือบุคคลที่กฎหมายให้บอกล้างโมฆียะกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 การบอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่มีผลตามกฎหมายส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยทำนิติกรรมโอนที่ดินตีใช้หนี้ให้โจทก์โดย ไม่ได้รับความยินยอมจากสามี นิติกรรมจึงไม่สมบูรณ์ นั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของนางวรรณศิริได้ความว่าที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยซึ่งได้รับการยกให้มาจากบิดาก่อนทำการสมรสกับนายปรีชาสามีจำเลยจึงมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวได้โดย ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่านิติกรรมโอนที่พิพาทตีใช้หนี้ไม่สมบูรณ์เพราะเหตุดังกล่าว”
พิพากษายืน