คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6901/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2554 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2545 วินิจฉัยว่า ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ดังนั้น ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) เพื่อขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาของจำเลยที่ 1 ว่าจะคืนภาษีให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2554 ในวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหาได้วินิจฉัยให้บทบัญญัติดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นไม่ ซึ่งจะมีผลเป็นการลบล้าง ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่มีบทบัญญัตินั้นไม่ เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 เป็นกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ซึ่งตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 55 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องและให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือ วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ไม่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 42,521.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,524.68 บาท และนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลภาษีอากรกลาง คู่ความแถลงร่วมกันว่า ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คำพิพากษา (คำวินิจฉัย) ศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 มีผลให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีหรือไม่ โดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานหลักฐานต่อไป
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์มีเพียงประการเดียวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 มีผลให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับ ขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เป็นการขัดหรือแย้งตั้งแต่มีประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ หาได้มีผลขัดหรือแย้งนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย เพียงแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันอ่านคำวินิจฉัย บุคคลจะนำไปกล่าวอ้างอิงก่อนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือแบบ ภ.ง.ด.91 ประจำปีภาษี 2554 ต่อจำเลย เพื่อขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งโจทก์ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี สำหรับโจทก์คือภายในเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2554 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2545 วินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ดังนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือแบบ ภ.ง.ด.91 เพื่อขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาของจำเลยที่ 1 ว่าจะคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือแบบ ภ.ง.ด.91 ประจำปีภาษี 2554 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวหาได้วินิจฉัยให้บทบัญญัติดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือให้เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นไม่ ซึ่งจะมีผลเป็นการลบล้างประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่มีบทบัญญัติดังกล่าวดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ฉะนั้น เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 เป็นกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง และตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 55 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องและให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน เท่านั้น ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงทำให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือ วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่วินิจฉัยไว้ดังกล่าวข้างต้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 จึงไม่มีผลทำให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในปีภาษี 2554 ต่อจำเลยที่ 1 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ไม่มีผลย้อนหลังนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share