คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17905/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนี้ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดอาญา จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เกินกว่าสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เหตุคดีนี้เกิดวันที่ 6 สิงหาคม 2539 โจทก์ได้ตัวจำเลยมายื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนี้ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดทางอาญา จึงต้องพิจารณาตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เกินกว่าสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share