แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180เป็นบทบัญญัติให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การของตน หาได้เป็นบทบัญญัติบังคับ ศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยเสมอไปเมื่อศาลพิจารณาคำร้องโจทก์จำเลยแล้วเมื่อมีเหตุอันสมควรศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาคำร้องเป็นเรื่อง ๆ ไป
จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังการชี้สองสถานแม้จะอ้างเหตุว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า”จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด” โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก็ต้องนำสืบถึงยอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยตามประเด็นดังกล่าว และจำเลยก็สามารถสืบหักล้างว่าดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมายที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยมีเพียงใด กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องอีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 2,000,000บาท ดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปตามที่โจทก์ประกาศกำหนดซึ่งขณะทำสัญญากำหนดอัตราร้อยละ 13.35 ต่อปีผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน จำเลยผิดนัด โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง
จำเลยให้การว่า ยอดหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีเนื่องจากกำหนดไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
หลังวันชี้สองสถานแต่อยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาจำเลยมีเพียงว่า สมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ซึ่งจำเลยยื่นขอแก้ไขภายหลังการชี้สองสถานแล้วหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยฎีกาว่า คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ว่า “โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด” เป็นคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลต้องอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้อง เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ให้อำนาจจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังศาลชี้สองสถานแล้วได้ถ้าการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเป็นการแก้ไขในปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่ให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การได้ ภายหลังวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีไม่มีการชี้สองสถานอยู่สองกรณีคือ
(1) การขอแก้ไขเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(2) เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย
เป็นบทบัญญัติให้อำนาจโจทก์หรือจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำให้การของตน หาได้เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยเสมอไป เมื่อศาลพิจารณาคำร้องโจทก์จำเลยแล้ว เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของโจทก์จำเลยได้ซึ่งศาลจะพิจารณาคำร้องเป็นเรื่อง ๆ ไป กรณีตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจำเลยภายหลังการชี้สองสถาน คดีนี้แม้จะเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมอ้างเหตุว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อ 3 ว่า “จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด”ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก็ต้องนำสืบถึงยอดหนี้ และดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยอยู่แล้วตามประเด็นข้อ 3 ดังกล่าว และจำเลยก็สามารถสืบหักล้างว่าดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมายที่โจทก์มีสิทธิคิดจากจำเลยมีเพียงใดได้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การตามคำร้องอีก
พิพากษายืน