คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีคำสั่ง เรื่อง หลักเกณฑ์การคำนวณค่าชดเชยการอนุมัติและการจ่ายค่าชดเชยกำหนดว่า “พนักงานประจำซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป ให้ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน” และจำเลยมีข้อบังคับ ฉบับที่ 47 ว่าด้วยเงินบำเหน็จกำหนดว่า “พนักงานที่ต้องออกจากงานในวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้”และ “พนักงานที่ออกจากงานโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ ก็ให้จ่ายเพิ่มแต่จำนวนที่ต่ำกว่า คำสั่งดังกล่าวเห็นได้ว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ มีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วย
ข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จ ข้อ 6 กำหนดว่า พนักงานที่ออกจากงานกรณีใดบ้างที่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ ส่วนข้อ 8 เป็นการกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าพนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้ว ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีกเงื่อนไขข้อ 8 จึงเป็นข้อยกเว้นของข้อ 6 มิได้หมายความว่า ถ้ามีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อ 6 แล้ว จะนำข้อ 8 มาใช้บังคับอีกไม่ได้
คำสั่งของจำเลยเรื่อง หลักเกณฑ์การคำนวณค่าชดเชย การอนุมัติและการจ่ายค่าชดเชย เป็นระเบียบที่ใช้รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยกรณีพนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุด้วย ค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามคำสั่งดังกล่าว ซึ่งจ่ายเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วันจึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินทั้งหมดที่จ่ายเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 47 วรรคสองแล้ว

Share