คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อหาพาอาวุธไปในเมืองทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย 100 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ ที่จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดและโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยจะมีอาวุธมีดจริงหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยแต่เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้มีดจี้ชิงทรัพย์ผู้เสียหาย แม้ข้อหาพาอาวุธมีดไปในเมืองทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรจะยุติไปแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปบริเวณปากซอยลาดพร้าว 142 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันชิงเอาสร้อยข้อมือทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 10,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้นราคา 5,000 บาท และพระเลี่ยมทองคำหนัก 1 สลึง 1 องค์ ราคา 1,700 บาท รวมราคา16,700 บาท ของนางสาวศุภลักษณ์ สุวรรณรัตน์ ผู้เสียหายไปโดยใช้อาวุธมีดที่พามาขู่เข็ญผู้เสียหายว่าในทันใดนั้นจะใช้อาวุธมีดแทงประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม และใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 339,340 ตรี, 371 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 16,700 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 371, 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามารา 91 ฐานร่วมกันชิงทรัพย์ผู้อื่นโดยใช้ยานพาหนะจำคุก 18 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 100 บาท รวมจำคุก 18 ปี และปรับ100 บาท ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 16,700 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง คนร้ายเข้ามาชิงทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.2 ของนางสาวศุภลักษณ์ สุวรรณรัตน์ ผู้เสียหายโดยใช้อาวุธมีดจี้ผู้เสียหายและใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด พาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม สำหรับข้อหาความผิดฐานพาอาวุธไปในเมืองทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย 100 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องและโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยจะมีอาวุธมีดจริงหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวเบิกความว่า ขณะผู้เสียหายกำลังพูดโทรศัพท์ในตู้โทรศัพท์จำเลยเข้ามาชิงทรัพย์ผู้เสียหายในตู้โทรศัพท์ ผู้เสียหายจำหน้าจำเลยได้ เพราะมีโอกาสเห็นจำเลยโดยอาศัยแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าที่ติดอยู่รั้วของการไฟฟ้าย่อยคลองจั่น และแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าที่ติดอยู่บนเสาไฟฟ้าแรงสูงที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุนั้น เห็นว่า แม้ผู้เสียหายมีโอกาสเห็นจำเลยในระยะใกล้ชิด แต่ก็เป็นเวลาเพียง 1 ถึง 2 นาที เท่านั้นและไม่เคยเห็นหน้าจำเลยมาก่อนประกอบกับผู้เสียหายเป็นหญิงทั้งก็เบิกความรับว่าขณะเกิดเหตุรู้สึกตกใจกลัว ดังนั้น ผู้เสียหายย่อมไม่มีเวลาที่จะจดจำหน้าจำเลยและที่ผู้เสียหายอ้างว่าจดจำใบหน้าจำเลยได้และได้ชี้รูปถ่ายจำเลยนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับบันทึกการชี้รูปถ่ายผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.4 ลงวันที่ 7 กันยายน 2537 และตามคำเบิกความของพันตำรวจโทบุญส่ง อัตวรอนันต์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากพยานโจทก์ก็ได้ความว่า ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายนำความมาแจ้งว่าถูกคนร้ายชิงทรัพย์โดยไม่ได้ระบุว่าจดจำคนร้ายได้ ต่อมาภายหลังจึงให้การเพิ่มเติมว่าจดจำคนร้ายได้ พยานจึงนำรูปถ่ายผู้ต้องสงสัยให้ผู้เสียหายดูเมื่อผู้เสียหายชี้ระบุรูปถ่ายจำเลยว่าเป็นคนร้าย พยานก็ทำบันทึกการชี้รูปถ่ายผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.4ไว้ แสดงว่าผู้เสียหายชี้รูปถ่ายจำเลยหลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือนเศษ ตามพฤติการณ์แห่งคดีและจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงมีเหตุน่าสงสัยว่าผู้เสียหายจดจำใบหน้าจำเลยได้หรือไม่ ส่วนพยานหลักฐานโจทก์อื่นก็ล้วนแต่เป็นพยานบอกเล่าและเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไม่รู้เห็นเหตุการณ์ จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาทั้งหมดยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายนี้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้มีดจี้ชิงทรัพย์ผู้เสียหาย ดังนี้แม้ข้อหาความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรจะยุติไปแล้วเพราะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share