คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 187/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่า ที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดมีเนื้อที่ 4,090.99ตารางเมตร สำหรับปี พ.ศ. 2528 และ พ.ศ. 2529 กับมีเนื้อที่3,870.05 ตารางเมตร สำหรับปี พ.ศ. 2531 เพียงแต่โจทก์อ้างว่าที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขายควรมีเนื้อที่เพียง 324.56 ตารางเมตร ที่เหลือนอกนั้นเป็นที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่น ดังนั้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมมีหน้าที่จะต้องชำระค่าภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขาย และที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นทั้งหมดในอัตราร้อยละ12.5 ต่อปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 8 และพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2475 มาตรา 5 และเมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าค่ารายปีของที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขาย และที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นนั้น มีอัตราแตกต่างกัน อันจะทำให้การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1นำจำนวนที่ดินทั้งหมดมารวมคิดค่ารายปีในอัตราเดียวกันเป็นการไม่ถูกต้อง ดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1คิดค่ารายปีจากจำนวนที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมกันในอัตราเดียวกัน แล้วประเมินค่าภาษีในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 13เจ้าของโรงเรือนจะได้รับประโยชน์ลดค่ารายปีลงเหลือเพียงหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีโรงเรือนก็ต่อเมื่อเจ้าของโรงเรือนได้ติดตั้งเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าในโรงเรือนและเป็นส่วนควบอันสำคัญเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรม โมบายออฟฟิศมีเพียงแผงสวิตซ์ สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตติดตั้งอยู่เท่านั้น แต่การผลิตคอนกรีตผสมเสร็จอันเป็นอุตสาหกรรมของโจทก์ ความสำคัญอยู่ที่เครื่องจักรผสมคอนกรีต เมื่อเครื่องจักรผสมคอนกรีตอันเป็นส่วนที่มีลักษณะสำคัญเพื่อดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์นั้น มิได้ติดตั้งในโมบายออฟฟิศลำพังแต่แผงสวิตซ์ สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตจึงมิใช่ส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ ตามความหมายของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 13 ไม่มีสิทธิได้ลดค่ารายปีสำหรับเสียภาษีโรงเรือนลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี ที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีต มีสภาพเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่เป็นฐานติดตรึงกับพื้นดินโดยมีเครื่องจักรผสมคอนกรีตติดตั้งเป็นส่วนควบอยู่ตอนบนเท่านั้น ไม่ได้มีสภาพเป็นโรงเรือนสำหรับให้เครื่องจักรผสมคอนกรีตได้ติดตั้งเป็นส่วนควบเข้าด้วย จึงไม่เป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ ไม่มีสิทธิได้ลดค่ารายปีสำหรับเสียภาษีโรงเรือนลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี ห้องปั๊มลมมีสภาพของห้องทั้งสี่ด้านและด้านบนทำด้วยแผ่นเหล็กมีรูปลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ครอบเครื่องปั๊มลมไว้มุมฝาทั้งสี่ด้านมีขาเหล็กยึดติดกับพื้นคอนกรีตมีประตูทางเข้า1 บาน ภายในห้องมีเครื่องปั๊มลมอันเป็นเครื่องจักรกลไกที่สนับสนุนการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตติดตั้งอยู่กับพื้นคอนกรีตจึงเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างสำหรับคุ้มกันเครื่องปั๊มลมเท่านั้นไม่ได้มีสภาพเป็นที่สำหรับอยู่หรือไว้สิ่งของคล้ายโรงเรือน ถือไม่ได้ว่าเป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญอันมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ ไม่มีสิทธิได้ลดค่ารายปีสำหรับเสียภาษีโรงเรือนลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี สายพานลำเลียงปูนซีเมนต์มีสภาพเป็นสายพาน*ลำเลียงแขวนอยู่บนคานเหล็กซึ่งมีขาตั้งเป็นเหล็กติดตรึง อยู่ กับพื้นคอนกรีตในที่โล่งไม่มีฝาหรือหลังคาคลุม จึงมีสภาพเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างไม่ได้มีสภาพเป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ไม่มีสิทธิได้ลดค่ารายปีสำหรับเสียภาษีโรงเรือนลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี โรงคุมสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ มีสภาพเป็นโรงขนาดสูงใหญ่มีฝาสองด้าน มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่ขนาด 10.0×12 เมตรโครงสร้างเป็นเหล็กติดตรึง กับพื้นคอนกรีตอย่างมั่นคงแข็งแรงมีคานเหล็กพร้อมขาตั้งเหล็กที่ติดตรึง อยู่ กับพื้นคอนกรีตภายในโรงอย่างมั่นคงแข็งแรงเช่นกัน ใช้เป็นที่แขวนสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ด้วยรอกร้อยโซ่ มีมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อนล้อในการลำเลียงปูนซีเมนต์บรรจุถุงจากเรือสู่รถยนต์บรรทุกเพื่อนำไปยังถังเก็บสำหรับใช้ส่งเข้าเครื่องจักรผสมคอนกรีตในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จจำหน่าย คาน รอกโซ่ สายพาน ลำเลียงและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมล้อประกอบกันสามารถใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการส่งถ่ายแรงได้ จึงเป็นเครื่องจักรกลที่สำคัญเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ขึ้นในโรงเรือนนั้น ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 13 จึงเป็นโรงเรือนที่ต้องลดค่ารายปีสำหรับเสียภาษีโรงเรือนลงเหลือเพียงหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528, พ.ศ. 2529และ พ.ศ. 2531 ตามลำดับ โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 16/1ประจำปี พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2531 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้กำหนดค่ารายปี และประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2528, พ.ศ. 2529 จำนวน 8 รายการและประจำปี พ.ศ. 2531 จำนวน 19 รายการ ต่อมาโจทก์ได้รับใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2528, พ.ศ. 2529 และพ.ศ. 2531 ตามลำดับ โดยกำหนดค่ารายปีและให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2528 จำนวน 8 รายการ เป็นเงิน 9,581.25 บาทประจำปี พ.ศ. 2529 จำนวน 8 รายการ เป็นเงิน 57,487.50 บาทประจำปี พ.ศ. 2531 จำนวน 19 รายการ เป็นเงิน 58,757.50 บาทโจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย แล้วได้ยื่นคำขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เพียงบางรายการ ต่อมาโจทก์ได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งวินิจฉัยยืนตามการประเมินของของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2528 รวม 3 รายการ คือ
(ก) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโมบายออฟฟิศ รายการที่ 1และที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีต รายการที่ 8 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินค่ารายปีโรงเรือนทั้งสองรายการ เป็นจำนวน 600 บาท และ 6,000 บาท คิดเป็นค่าภาษี 75 บาท และ750 บาท ตามลำดับโรงเรือนทั้งสองรายการนี้ เป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก ซึ่งใช้ในการดำเนินการอุตสาหกรรม ย่อมได้รับลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี ซึ่งเมื่อลดค่ารายปีโรงเรือนทั้งสองรายการลงแล้วจะได้ค่ารายปีรายการที่ 1 จำนวน 200 บาท คิดเป็นภาษีได้เพียง25 บาท และค่ารายปีรายการที่ 8 จำนวน 2,000 บาท คิดเป็นค่าภาษีได้250 บาท แต่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บภาษีทั้งสองรายการนี้ไปเป็นเงินรวม 825 บาท โดยไม่ลดหย่อนค่ารายปีลงจึงเป็นการเรียกค่าภาษีจากโจทก์เกินไปเป็นเงินรวม 600 บาท
(ข) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างประเภทที่มีพื้นที่เป็นที่ดินต่อเนื่องกันคือสำนักงานขาย รายการที่ 2 โรงเรือนดังกล่าวมีพื้นที่56.25 ตารางเมตร ถูกประเมินค่ารายปีเป็นจำนวนทั้งสิ้น 60,690 บาทคิดเป็นค่าภาษี 7,586.25 บาท การประเมินดังกล่าวเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้นำเอาจำนวนเนื้อที่ของที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนอื่น ๆ ทุกรายการที่ยื่นแสดงไว้ใน ภ.ร.ด.2 ทั้งหมดจำนวน 4,090.99 ตารางเมตร มารวมเข้ากับเนื้อที่ของสำนักงานขายแล้วนำไปกำหนดค่ารายปี และค่าภาษีเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนอื่น ๆ ไม่ใช่ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขาย เมื่อคำนวณตามสัดส่วนของพื้นที่โรงเรือนสำนักงานขายซึ่งมีพื้นที่ 56.25 ตารางเมตร แล้วจะได้ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนรายการนี้ 324.56 ตารางเมตร เมื่อนำมารวมกับพื้นที่ของโรงเรือนรายการที่ 2 อีก 56.25 ตารางเมตรแล้วก็จะได้เป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 380.81 ตารางเมตร เมื่อคำนวณค่ารายปีในอัตราตารางเมตรละ 14.63 บาท ค่ารายปีของโรงเรือนรายการนี้จะเป็นจำนวน 5,559.83 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 694.98 บาทแต่ปรากฏว่าจำเลยได้เรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนรายการนี้ไปเป็นเงินสูงถึง 7,586.25 บาท จึงต้องคืนค่าภาษีที่เกินไปจำนวน6,891.27 บาท ให้แก่โจทก์รวมค่าภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2528ที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนให้แก่โจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้น7,491.27 บาท
สำหรับภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2529 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมิน 4 รายการ คือ
(ก) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโมบายออฟฟิศรายการที่ 1โรงคุมสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ รายการที่ 3 และที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีต รายการที่ 8 เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินค่ารายปีโรงเรือนทั้งสามเป็นจำนวน 3,600 บาท, 21,600 บาท และ 36,000บาท คิดเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน 450 บาท 2,700 บาท และ 4,500บาท ตามลำดับ โรงเรือนทั้งสามเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรกลไกเป็นส่วนควบที่สำคัญ ซึ่งใช้ในการดำเนินการอุตสาหกรรมย่อมได้รับลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือเพียงหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีซึ่งเมื่อลดค่ารายปีโรงเรือนลงแล้วจะได้ค่ารายปีรายการที่ 1จำนวน 1,200 บาท คิดเป็นค่าภาษี 150 บาท รายการที่ 3 จำนวน7,200 บาท คิดเป็นค่าภาษี 900 บาท และรายการที่ 8 จำนวน 12,000บาท คิดเป็นค่าภาษี 1,500 บาท แต่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ได้เรียกเก็บภาษีทั้ง 3 รายการ เป็นเงินรวม 7,650 บาท โดยไม่ลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี จึงเป็นการเรียกค่าภาษีจากโจทก์เกินไปเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 5,100 บาท
(ข) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างประเภทที่มีพื้นที่เป็นที่ดินต่อเนื่องกันคือ สำนักงานขาย รายการที่ 2 โรงเรือนดังกล่าวมีเนื้อที่จำนวน 56.25 ตารางเมตร ถูกประเมินค่ารายปีเป็นจำนวนทั้งสิ้น 364,140 บาท คิดเป็นค่าภาษี 45,517.50 บาท การประเมินดังกล่าวเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้นำเอาที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนอื่น ๆ ทุกรายการที่ได้ยื่นแสดงไว้ในแบบ ภ.ร.ด. 2จำนวน 4,090.99 ตารางเมตร มารวมเข้ากับเนื้อที่ของโรงเรือนสำนักงานขายแล้วนำไปประเมินค่าภาษี โจทก์เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานทำการประเมินภาษีโดยนำที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนรายการอื่นมาคิดรวมไว้กับโรงเรือนรายการที่ 2 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากที่ดินต่อเนื่องดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนรายการอื่น ๆ ไม่ใช่ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขาย ซึ่งเมื่อคำนวณตามสัดส่วนของพื้นที่โรงเรือนสำนักงานขายซึ่งมีพื้นที่ 56.25 ตารางเมตร แล้วจะได้พื้นที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนรายการนี้ 324.56 ตารางเมตร และเมื่อนำมารวมกับพื้นที่ของโรงเรือนแล้ว เป็นพื้นที่ทั้งสิ้น380.81 ตารางเมตร เมื่อคำนวณค่ารายปีในอัตราตารางเมตรละ 87.80บาทแล้ว จะได้ค่ารายปีจำนวน 33,435.12 บาท คิดเป็นค่าภาษี4,179.39 บาท แต่จำเลยได้เรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนดังกล่าวเป็นเงิน45,517.50 บาท จึงต้องคืนค่าภาษีที่เกินไปจำนวน 41,338.11 บาทรวมค่าภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2529 ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนให้แก่โจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้น 46,438.11 บาท
สำหรับภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2531 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมิน 5 รายการคือ
(ก) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโมบายออฟฟิศ รายการที่ 1สายพานลำเลียงปูนซีเมนต์รายการที่ 18 และโรงคุมสายพาน ลำเลียงปูนซิเมนต์รายการที่ 19 เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยที่ 1ประเมินค่ารายปีแต่ละรายการเป็นจำนวน 3,600 บาท และ 21,600 บาทคิดเป็นค่าภาษี 450 บาท และ 2,700 บาท แต่เนื่องจากโรงเรือนทั้ง 2 รายการนี้เป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกซึ่งใช้ในการดำเนินการอุตสาหกรรมย่อมที่จะได้รับลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนนำมาคิดภาษีซึ่งหากลดหย่อนค่ารายปีตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จะได้ค่ารายปีสำหรับโรงเรือนโมบายออฟฟิศ 1,200 บาท คิดเป็นค่าภาษี 150 บาทและสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์กับโรงคุมสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ทั้งสองรายการประเมินค่ารายปีรวมกันได้ 7,200 บาท คิดเป็นค่าภาษี 900 บาท แต่จำเลยได้เรียกเก็บภาษีทั้งสองรายการนี้รวมเป็นเงิน 3,150 บาท โดยไม่ลดหย่อนค่ารายปีเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษี จึงเรียกค่าภาษีจากโจทก์เกินไปเป็นเงิน 2,100 บาท
(ข) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีต รายการที่ 3 และห้องปั๊มลม รายการที่ 8 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินค่ารายปี 2 รายการนี้รวมเข้ากับรายการกองหิน กองทราย ถังซีเมนต์ เป็นจำนวน 54,000 บาท คิดเป็นค่าภาษี 6,750 บาท โรงเรือนทั้งสองนี้เป็นโรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรกลไกอันเป็นส่วนควบที่สำคัญ ย่อมได้รับลดหย่อนค่ารายปีเหลือหนึ่งในสามก่อนนำมาคำนวณคิดภาษี เจ้าพนักงานประเมินควรแยกจำนวนพื้นที่ของโรงเรือนที่เป็นเครื่องจักรผสมคอนกรีตและห้องปั๊มลมออกจากจำนวนพื้นที่โรงเรือนที่เป็นกองหิน กองทราย ถังซีเมนต์เสียก่อน แล้วจึงประเมินค่ารายปีในอัตราเดียวกันกับโมบายออฟฟิศในอัตราเมตรละ 202.70 บาท ซึ่งจะได้ค่ารายปีโรงเรือน 2 รายการนี้เป็นเงิน 6,891.80 บาท และ 1,167.55 บาท แล้วหักลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามจะได้ค่ารายปีสำหรับที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีตเท่ากับ 2,297.27 บาท คิดเป็นค่าภาษี 287.16 บาท และห้องปั๊มลมได้เท่ากับ 389.18 บาท คิดเป็นค่าภาษี 48.65 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าภาษีที่เรียกเก็บสำหรับรายการที่เป็นกองหิน กองทรัพย์แล้วจะรวมเป็นค่าภาษีทั้งสิ้น 6,078.39 บาท แต่จำเลยเรียกเก็บรวมเป็นเงิน 6,750 บาท โดยไม่ลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามสำหรับโรงเรือนที่เป็นที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีตและห้องปั๊มลมจึงเรียกเก็บภาษีจากโจทก์เกินไป เป็นเงินทั้งสิ้น 671.61 บาท
(ค) โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่มีพื้นที่โรงเรือนเป็นที่ดินต่อเนื่องกับสำนักงานขาย รายการที่ 2 โรงเรือนดังกล่าวนี้มีพื้นที่ 56.25 ตารางเมตร เจ้าพนักงานประเมินค่ารายปี347,760 บาท คิดเป็นภาษี 43,470 บาท การประเมินภาษีดังกล่าวเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 1 ได้นำเอาที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนอื่น ๆ ทุกรายการที่ได้แสดงไว้ในแบบ ภ.ร.ด.2 จำนวน3,870.05 ตารางเมตร มารวมแล้วนำไปประเมินค่าภาษี ได้ค่ารายปีในอัตรา 88.57 บาท ต่อตารางเมตร การที่เจ้าพนักงานประเมินที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนรายการอื่นมาคิดรวมกับโรงเรือนสำนักงานขายย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากที่ดินต่อเนื่องดังกล่าว เป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนอื่น ๆซึ่งคำนวณตามสัดส่วนของพื้นที่โรงเรือนสำนักงานขาย จะได้ที่ดินใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนจำนวน 324.56 ตารางเมตร และเมื่อนำมารวมกับพื้นที่ของโรงเรือนนี้อีก 56.25 ตารางเมตร จะได้พื้นที่ทั้งสิ้น 380.81 ตารางเมตร เมื่อคำนวณค่ารายปีในอัตราเมตรละ 88.57 บาท แล้วจะได้ค่ารายปีจำนวน 33,728.34 บาทคิดเป็นภาษีได้เพียง 4,216.04 บาท แต่เจ้าพนักงานของจำเลยได้เรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนรายการนี้เป็นเงิน 43,470 บาท จึงต้องคืนค่าภาษีที่เกินไป จำนวน 39,253.96 บาท ให้แก่โจทก์ รวมค่าภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2531 ที่จำเลยทั้งสองต้องคืนแก่โจทก์เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 42,025.57 บาท ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือน (ภ.ร.ด.8) ประจำปี พ.ศ. 2528 เล่มที่ 109เลขที่ 1 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2528 และประจำปี พ.ศ. 2529เล่มที่ 107 เลขที่ 17 ลงวันที่ 24 เมษายน 2529 และประจำปีพ.ศ. 2531 เล่มที่ 102 เลขที่ 23 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2532กับให้เพิกถอนคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 2 (ภ.ร.ด.11) ประจำปี พ.ศ. 2528 เล่มที่ 9เลขที่ 46 ลงวันที่ 12 เมษายน 2532 ประจำปี พ.ศ. 2529 เล่มที่ 9เลขที่ 43 ลงวันที่ 12 เมษายน 2532 และประจำปี พ.ศ. 2531เล่มที่ 9 เลขที่ 44 ลงวันที่ 12 เมษายน 2532 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2528, พ.ศ. 2529และ พ.ศ. 2531 เป็นเงินรวม 95,954.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ให้โจทก์ชำระภาษีตามผลการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยมิได้ลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคิดคำนวณภาษี การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสำนักงานขายโดยวิธีนำเอาพื้นที่ดินต่อเนื่องทุกรายการมารวมกับพื้นที่ของโรงเรือนที่เป็นสำนักงานขาย และการที่เจ้าพนักงานประเมินที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีตและห้องปั๊มลมเข้ากับกองหิน กองทราย และถังซีเมนต์ ก็เพราะรายการดังกล่าวมีลักษณะการใช้ประโยชน์ร่วมกันและอยู่ในบริเวณเดียวกัน ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือน (ภ.ร.ด.8)ประจำปี พ.ศ. 2528 เล่มที่ 109 เลขที่ 1 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม2528 และประจำปี พ.ศ. 2529 เล่มที่ 107 เลขที่ 17 ลงวันที่24 เมษายน 2529 และประจำปี พ.ศ. 2531 เล่มที่ 102 เลขที่ 23ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2532 กับเพิกถอนคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.11) ของจำเลยที่ 2ประจำปี พ.ศ. 2528 เล่มที่ 9 เลขที่ 46 ลงวันที่ 12 เมษายน 2532และประจำปี พ.ศ. 2529 เล่มที่ 9 เลขที่ 46 ลงวันที่ 12 เมษายน 2532ประจำปี พ.ศ. 2529 เล่มที่ 9 เลขที่ 43 ลงวันที่ 12 เมษายน 2532และประจำปี พ.ศ. 2531 เล่มที่ 9 เลขที่ 44 ลงวันที่ 12 เมษายน2532 โดยให้จำเลยที่ 1 ปรับปรุงและแก้ไขการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2528 สำหรับโรงเรือนโมบายออฟฟิศ และโรงเรือนเครื่องจักรผสมคอนกรีต ให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของโรงเรือนแต่ละรายการ ประจำปี พ.ศ. 2529 สำหรับโรงเรือนโมบายออฟฟิศ โรงคุมสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์โรงเรือนเครื่องจักรผสมคอนกรีต ให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของโรงเรือนแต่ละรายการ และประจำปี พ.ศ. 2531สำหรับโรงเรือนโมบายออฟฟิศ โรงเรือนเครื่องจักรผสมคอนกรีตห้องปั๊มลม โรงคุมสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ สายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของโรงเรือนแต่ละรายการเมื่อจำเลยที่ 1 ปรับปรุงแก้ไขการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำชี้ขาดใหม่แล้วให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไปให้แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าไม่คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน จากวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยกโจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “อุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งเกี่ยวกับการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นำเอาที่ดินจำนวนเนื้อที่ 4,090.99 ตารางเมตร มาคำนวณค่ารายปีของปีพ.ศ. 2528 และ พ.ศ. 2529 กับจำนวนเนื้อที่ 3,870.05 ตารางเมตรมาคำนวณค่ารายปีของปี พ.ศ. 2531 แล้วประเมินค่าภาษีจากโจทก์โดยถือว่าเป็นที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขายทั้งหมด ว่าเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่า ที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดมีเนื้อที่ 4,090.99 ตารางเมตร สำหรับปีพ.ศ. 2528 และ พ.ศ. 2529 กับมีเนื้อที่ 3,870.05 ตารางเมตรสำหรับปี พ.ศ. 2531 เพียงแต่โจทก์อ้างว่า ที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขายควรมีเนื้อที่เพียง 324.56ตารางเมตร ที่เหลือนอกนั้นเป็นที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่น ดังนั้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์ย่อมมีหน้าที่จะต้องชำระค่าภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขาย และที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นทั้งหมดในอัตราร้อยละ12.5 ต่อปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 8 และพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2475 มาตรา 5 และเมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าค่ารายปีของที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขาย และที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นนั้น มีอัตราแตกต่างกัน อันจะทำให้การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1นำจำนวนที่ดินทั้งหมดมารวมคิดค่ารายปีในอัตราเดียวกันเป็นการไม่ถูกต้อง ดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1คิดค่ารายปีจากจำนวนที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมกันในอัตราเดียวกัน แล้วประเมินค่าภาษีในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้วกรณีหาใช่โจทก์มีที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขายเพียง 324.56 ตารางเมตร โดยไม่มีที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นอีก 3,766.43 ตารางเมตร แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 กลับคำนวณค่ารายปีจากที่ดินจำนวน4,090.99 ตารางเมตร อันเป็นเหตุให้ค่ารายปีมากผิดความจริงเป็นเหตุให้ค่าภาษีมีจำนวนมากเกินกว่าจำนวนที่จะต้องเสียตามกฎหมายไปด้วย ดังนั้นที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ควรเสียภาษีที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำนักงานขายเป็นพื้นที่ตามอัตราเฉลี่ยเพียง 324.56 ตารางเมตร รวมกับพื้นที่ของโรงเรือนสำนักงานขายอีก 56.25 ตารางเมตร แล้วนำไปคำนวณค่ารายปี และคิดภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนจำนวนภาษีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บไปจากโจทก์นั้นมากกว่าจำนวนดังกล่าวไปเท่าใดต้องถือว่าคิดเกิน ต้องคืนให้แก่โจทก์ เท่ากับโจทก์โต้แย้งไม่ยอมเสียค่าภาษีสำหรับที่ดินที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีตามบทกฎหมายที่ได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ค่ารายปีของที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างแต่ละรายมีอัตราไม่เท่ากัน การนำจำนวนที่ดินมารวมคิดในอัตราไม่เท่ากัน การนำจำนวนที่ดินมารวมคิดในอัตราเดียวกันจึงไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ที่ดินบางส่วนยังเป็นที่ดินว่างเปล่า โจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จึงไม่ต้องเสียภาษี และที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ก็ควรได้รับการลดค่ารายปีลงเหลือเพียงหนึ่งในสามด้วยนั้นเป็นปัญหาที่โจทก์ตั้งขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์ มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อแรกมีว่าการประเมินภาษีโรงเรือน สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 1 ตามแบบแจ้งรายการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี พ.ศ. 2528, พ.ศ. 2529และ พ.ศ. 2531 โมบายออฟฟิศจะต้องลดค่ารายปีลงเหลือเพียงหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีหรือไม่ พิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 13 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสาม…” ดังนี้ เห็นได้ว่าเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าที่ติดตั้งนั้นต้องติดตั้งในโรงเรือนและเป็นส่วนควบอันสำคัญจึงจะได้รับประโยชน์ตามมาตรานี้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โมบายออฟฟิศตามภาพถ่ายหมาย ล.1 แผ่นที่ 103และหมาย จ.1 แผ่นที่ 29 มีเพียงแผงสวิตช์ สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตตามภาพถ่ายหมาย จ.1 แผ่นที่ 33 ถึง 35และหมาย ล.1 แผ่นที่ 104 ติดตั้งอยู่เท่านั้น แต่การผลิตคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่ายอันเป็นอุตสาหกรรมของโจทก์นั้น ความสำคัญอยู่ที่เครื่องจักรผสมคอนกรีต หาใช่อยู่ที่แผงสวิตช์สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตไม่ เมื่อเครื่องจักรผสมคอนกรีตอันเป็นส่วนที่มีลักษณะสำคัญเพื่อดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์นั้นมิได้ติดตั้งในโมบายออฟฟิศ ลำพังแต่แผงสวิตช์สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตจึงมิใช่ส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ ตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินทรัพย์สินรายการนี้โดยมิได้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสาม จึงเป็นการถูกต้อง คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบแล้วไม่มีเหตุที่โจทก์จะมาฟ้องเรียกเงินคืน โดยอ้างว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เรียกภาษีไว้เกิน คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนของทรัพย์สินรายการนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในข้อที่ 2 มีว่า ทรัพย์สินตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี พ.ศ. 2528 และพ.ศ. 2529 รายการที่ 8 และประจำปีภาษี พ.ศ. 2531 รายการที่ 3ที่ว่างเครื่องจักรผสมคอนกรีต เป็นโรงเรือนที่จะต้องลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีหรือไม่ เห็นว่า ที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีตตามภาพถ่ายหมาย จ.1 แผ่นที่ 33 ถึง 35และหมาย ล.1 แผ่นที่ 104 นั้น มีสภาพเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่เป็นฐานติดตรึงกับพื้นดินโดยมีเครื่องจักรผสมคอนกรีตติดตั้งเป็นส่วนควบอยู่ตอนบนเท่านั้น หาได้มีสภาพเป็นโรงเรือนสำหรับให้เครื่องจักรผสมคอนกรีตได้ติดตั้งเป็นส่วนควบเข้าด้วยไม่ทรัพย์สินดังกล่าว จึงไม่เป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่าภาษีทรัพย์สินรายการนี้โดยมิได้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสาม จึงเป็นการถูกต้อง คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางเกี่ยวกับค่าภาษีทรัพย์สินรายการนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในข้อที่ 3 มีว่า ทรัพย์สินรายการที่ 8 ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี พ.ศ. 2531 คือ ห้องปั๊มลม เป็นโรงเรือนที่จะต้องลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีหรือไม่ เห็นว่า ห้องปั๊มลมตามภาพถ่ายหมาย จ.1 แผ่นที่ 34 และหมาย ล.1 แผ่นที่ 101 นั้นสภาพของห้องทั้งสี่ด้านและด้านบนทำด้วยแผ่นเหล็กมีรูปลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ครอบเครื่องปั๊มลมไว้มุมฝาทั้งสี่ด้านมีขาเหล็กยึดติดกับพื้นคอนกรีตมีประตูทางเข้า 1 บาน ภายในห้องมีเครื่องปั๊มลมอันเป็นเครื่องจักรกลไกที่สนับสนุนการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตติดตั้งอยู่กับพื้นคอนกรีตสภาพดังกล่าวจึงเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างสำหรับคุ้มกันเครื่องปั๊มลมเท่านั้น หาได้มีสภาพเป็นที่สำหรับอยู่หรือไว้สิ่งของคล้ายโรงเรือนไม่ ถือไม่ได้ว่าเป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญอันมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ จึงไม่มีข้อพิจารณาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนประเมินค่าภาษีตามที่โจทก์อ้าง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สินรายการนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในข้อที่ 4 มีว่า ทรัพย์สินรายการที่ 18 ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี พ.ศ. 2531 สายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ เป็นโรงเรือนที่จะต้องลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีหรือไม่ เห็นว่าสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 แผ่นที่ 105มีสภาพเป็นสายพาน ลำเลียงแขวนอยู่บนคานเหล็กซึ่งมีขาตั้งเป็นเหล็กติดตรึง อยู่ กับพื้นคอนกรีตในที่โล่ง ไม่มีฝาหรือหลังคาคลุมจึงมีสภาพเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้าง หาได้มีสภาพเป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ไม่ จึงไม่มีข้อพิจารณาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องลดค่ารายปีของทรัพย์สินรายการลงนี้เหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีตามที่โจทก์อ้าง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้วคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้ายมีว่า ทรัพย์สินรายการที่ 19 ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี พ.ศ. 2531 โรงคุมสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ เป็นโรงเรือนที่จะต้องลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีหรือไม่เห็นว่า โรงคุมสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ตามภาพถ่ายหมาย จ.1แผ่นที่ 31, 32 และหมาย ล.1 แผ่นที่ 106 มีสภาพเป็นโรงขนาดสูงใหญ่มีฝาสองด้าน มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่ขนาด 10.30 x 12 เมตรโครงสร้างเป็นเหล็กติดตรึง กับพื้นคอนกรีตอย่างมั่นคงแข็งแรงมีคานเหล็กพร้อมขาตั้งเหล็กที่ติดตรึง อยู่ กับพื้นคอนกรีตภายในโรงอย่างมั่นคงแข็งแรงเช่นกัน คานเหล็กดังกล่าวใช้เป็นที่แขวนสายพาน ลำเลียงปูนซีเมนต์ด้วยรอกร้อยโซ่ มีมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อนล้อในการลำเลียงปูนซีเมนต์บรรจุถุงจากเรือสู่รถยนต์บรรทุกเพื่อนำไปยังถังเก็บสำหรับใช้ส่งเข้าเครื่องจักรผสมคอนกรีตในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จจำหน่าย คาน รอกโซ่ สายพาน ลำเลียงและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมล้อดังกล่าวประกอบกันสามารถใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการส่งถ่ายแรงได้ จึงเป็นเครื่องจักรกลไกที่สำคัญเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ เมื่อโรงคุมสายพาน ได้ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ขึ้นในโรงเรือนนั้น ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 13 แล้ว ทรัพย์สินรายการนี้จึงเป็นโรงเรือนที่ต้องลดค่ารายปีลงเหลือเพียงหนึ่งในสามตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 8 ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี พ.ศ. 2528 และ พ.ศ. 2529 และสำหรับทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 3 ที่ 8 ที่ 18 ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี พ.ศ. 2531 เสียด้วยนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share