แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เพียงมีเรื่องโต้เถียงกันเท่านั้น แล้วโจทก์ร่วมไม่ได้กระทำอะไรอื่นอีก แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ร่วมเคยให้มีด พ. แทงจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมขู่จะแทงจำเลยที่ 1 ด้วย ก็เป็นเพียงคำพูดโต้ตอบกันเพราะขณะนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมจะทำร้ายจำเลยที่ 1 ก่อน การที่จำเลยที่ 1 ถือมีดของกลางเข้าไปหาโจทก์ร่วมแต่ถูกโจทก์ร่วมแย่งมีด แล้วจำเลยที่ 1 ใช้มีดของกลางแทงปักติดที่ไหล่ของโจทก์ร่วมนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โกรธโจทก์ร่วมเองโดยที่โจทก์ร่วมไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อเหตุก่อน และทำร้ายโจทก์ร่วมโดยใช้มีดของกลางแทงโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส จึงไม่ถือว่าเป็นการป้องกันตัวให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและไม่มีภยันอันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่อาจยกเอาเหตุป้องกันโดยชอบขึ้นมาอ้างได้ เพราะการป้องกันโดยชอบตาม ป.อ. มาตรา 68 ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกกระทำฝ่ายเดียวก่อนจึงได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 80 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายพเนตร์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 (ที่ถูกมาตรา 297 (8)) จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ใช้มีดตะไบรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมของกลางเป็นอาวุธแทงโจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสตามใบนำส่งผู้บาดเจ็บและผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ร่วมไปหานายเชวงหรือฉุ้ยที่บ้านเกิดเหตุโดยมีจำเลยทั้งสองนั่งอยู่บนแคร่ข้างบ้านดังกล่าว ระหว่างรอนายเชวงอยู่ข้างนอกบ้านโจทก์ร่วมเดินไปหยิบยาเส้นที่วางอยู่ตรงกลางระหว่างจำเลยทั้งสองและขณะผู้เสียหายมวนยาเส้นได้ร้องเพลงว่า “จตุรภักดิ์เจ้ายักษ์หมดฤทธิ์” แล้วนั่งสูบยาเส้นบนแคร่ข้างจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ได้ลุกขึ้นเดินไปที่รถจักรยานยนต์เปิดเบาะรถแล้วเดินกลับมาหาผู้เสียหายโดยใช้มือซ้ายยันที่ไหล่ข้างซ้ายของผู้เสียหายแล้วใช้มือขวาถือมีดของกลางแทงผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนได้ความว่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายพูดจาตอบโต้กันแล้วผู้เสียหายพูดว่า “ถ้านั้นแทงเสียเล่าว่า” จำเลยที่ 1 จึงรู้สึกโกรธเนื่องจากผู้เสียหายเคยให้มีดนายพิดับแทงจำเลยที่ 1 จนขาพิการ จำเลยที่ 1 จึงเดินไปเอามีดของกลางลักษณะเป็นตะไบเหล็กรูปสามเหลี่ยมที่ใต้เบาะรถจักรยานยนต์แล้วถือเดินไปหาโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมเห็นก็ได้เดินเข้าไปแย่งมีดของกลางและหักข้อมือจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้มีดของกลางแทงถูกขาข้างซ้ายของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงใช้มือขวากดไหล่ของผู้เสียหายแล้วใช้มีดของกลางแทงบริเวณหลังของผู้เสียหายจนมีดของกลางเสียบลงลึกไม่สามารถดึงออกได้จึงหลบหนีไปเห็นว่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เพียงมีเรื่องโต้เถียงกันเท่านั้นแล้วผู้เสียหายไม่ได้กระทำอะไรอื่นอีก แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ร่วมเคยให้มีดนายพิดับแทงจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมขู่จะแทงจำเลยที่ 1 ด้วยก็เป็นเพียงแต่คำพูดโต้ตอบกันเพราะขณะนั้นไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยที่ 1 ก่อน การที่จำเลยที่ 1 ถือมีดของกลางเข้าไปหาโจทก์ร่วมแต่ถูกโจทก์ร่วมแย่งมีดแล้วจำเลยที่ 1 ใช้มีดของกลางแทงปักติดที่ไหล่ของโจทก์ร่วมนั้น ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ปรากฏเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โกรธโจทก์ร่วมเองโดยที่โจทก์ร่วมไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อเหตุก่อน และทำร้ายโจทก์ร่วมโดยใช้มีดของกลางแทงโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสตามฟ้อง จึงไม่ถือว่าเป็นการป้องกันตัวให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่อาจยกเอาเหตุป้องกันโดยชอบขึ้นมาอ้างได้ เพราะการป้องกันโดยชอบตาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกกระทำฝ่ายเดียวก่อนจึงได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้แสดงความพยายามบรรเทาผลร้าย การที่จำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลตามที่อ้างในฎีกาก็เป็นการกระทำภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสำนึกในความผิดที่ตนได้กระทำ ประกอบกับนายแพทย์ศราวุธผู้รักษาโจทก์ร่วมเบิกความว่า รักษาโจทก์ร่วมโดยผ่าตัดช่องอกของโจทก์ร่วมเพื่อนำมีดของกลางออกและผ่าตัดเพื่อหยุดโลหิตตกในช่องอกตามใบนำส่งผู้บาดเจ็บและผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ซึ่งหากรักษาไม่ทันโจทก์ร่วมอาจถึงแก่ความตายได้พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแก่สภาพความผิดแล้ว และแม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองให้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน