คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11554/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในกระทรวงการคลังจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน จัดสรรเงินของกองทุนดังกล่าวให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติทั่วประเทศเพื่อให้โรงเรียนประถมศึกษานำไปดำเนินการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือภาวะโภชนาการ และลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน แสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์ให้การจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นภาระหน้าที่หรืองานราชการส่วนหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษาด้วย ทั้งก่อนหน้านี้ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน พ.ศ.2509 ตลอดจนหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติถึงผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับจ่ายเงิน การลงบัญชี การรักษาเงินและการตรวจสอบเงินค่าอาหารกลางวันทั้งที่เป็นเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ (ส่วนที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองหรือมีผู้บริจาค) ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบและคำแนะนำของกรมบัญชีกลาง สรุปได้ว่าให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนโดยให้มีอำนาจเรียกเก็บเงินค่าอาหารกลางวันจากนักเรียนได้ การรับเงินต้องออกใบเสร็จรับเงินของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ให้มีการลงบัญชี ผู้รับผิดชอบเก็บรักษาเงิน การนำเงินฝากเข้าบัญชีและเบิกจ่ายตามระเบียบที่ทางราชการกำหนดโดยให้ถือว่าเป็นเงินของทางราชการประเภทเงินนอกงบประมาณ แต่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเพื่อการจัดอาหารกลางวันโดยเฉพาะ เห็นได้ว่าการจัดโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ไม่ว่าใช้เงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณล้วนเป็นการปฏิบัติราชการของสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน การที่ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลระยองมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นครูของโรงเรียนทำหน้าที่รับจ่ายและเก็บรักษาเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นการสั่งการหรือมอบหมายตามอำนาจของหัวหน้าสถานศึกษาให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ราชการของโรงเรียนโดยชอบ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินค่าอาหารกลางวันที่จำเลยมีหน้าที่จัดเก็บและรักษาไว้นั้นไปโดยทุจริต ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ลงโทษจำคุก 6 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยได้ลุแก่โทษโดยคืนเงินให้ผู้เสียหายครบถ้วนแล้ว ทั้งทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยรับราชการครูระดับ 6 โรงเรียนอนุบาลระยอง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลระยองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งให้จำเลยทำหน้าที่เก็บเงินค่าอาหารกลางวันจากผู้ปกครองนักเรียนและจัดการเบิกเงินค่าสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน จำเลยมีหน้าที่ออกใบเสร็จรับเงินค่าอาหารกลางวันให้ผู้ปกครองนักเรียนและส่งต้นขั้วใบเสร็จพร้อมมอบเงินที่รับไว้ให้เจ้าหน้าที่บัญชีเพื่อลงบัญชีประจำวันและนำฝากธนาคารในแต่ละวัน ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 2 จังหวัดชลบุรี ตรวจพบว่าใบเสร็จรับเงินค่าอาหารกลางวันหายไป 5 เล่ม และเงินค่าอาหารกลางวันดังกล่าวซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณขาดไป 285,500 บาท เงินที่ขาดไปไม่ได้นำเข้าฝากธนาคารตามระเบียบ จำเลยยอมรับว่านำใบเสร็จรับเงินค่าอาหารกลางวันและเงิน 285,500 บาท ไปเก็บไว้ที่บ้าน ต่อมาจำเลยนำต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าอาหารกลางวันดังกล่าวและชดใช้เงินทั้งหมดคืนแก่โรงเรียนอนุบาลระยองครบถ้วนแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยทำหน้าที่รับเงินและเก็บรักษาเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนตามคำสั่งของผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลระยอง เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่ และจำเลยยักยอกหรือเบียดบังเงินค่าอาหารกลางวันไปโดยทุจริต เป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 บัญญัติให้โรงเรียนมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องจัดการเรียนการสอนและให้การศึกษาอบรมแก่นักเรียนก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในกระทรวงการคลังจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ จัดสรรเงินของกองทุนให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อให้โรงเรียนประถมศึกษานำไปดำเนินการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือภาวะโภชนาการ ลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียนในโรงเรียน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้มีหน้าที่จัดการให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ และก่อนหน้าที่จะมีการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวออกใช้บังคับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน พ.ศ.2509 ใช้บังคับมาก่อนแล้ว ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวข้อ 3, 4, 5, 6 และ 7 กำหนดว่า ให้โรงเรียนต่าง ๆ (ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) จัดโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนที่โรงเรียนโดยมีหลักการสำคัญว่าให้จัดหาอาหารที่สะอาด ถูกหลักโภชนาการ มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอแก่นักเรียน และให้โรงเรียนเรียกเก็บค่าอาหารกลางวันจากนักเรียนเป็นรายเดือนหรือจะจำหน่ายเป็นรายวันก็ได้ เงินค่าอาหารกลางวันที่เรียกเก็บนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า ไม่ให้ถือว่าเป็นเงินบำรุงการศึกษาและอยู่นอกเหนือการควบคุมของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการรับจ่ายเงินบำรุงการศึกษา พ.ศ.2507 กล่าวคือ ไม่ถือเป็นรายได้ของโรงเรียนที่จะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ให้หัวหน้าสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดโครงการอาหารกลางวัน มีอำนาจสั่งจ่ายเงินค่าอาหารเพื่อประโยชน์ในโครงการนี้โดยเฉพาะ จากระเบียบและกฎหมายดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและรัฐบาลประสงค์ให้การจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาเป็นภาระหน้าที่หรือราชการส่วนหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษาด้วย และตามระเบียบดังกล่าวข้อ 8 กำหนดให้หัวหน้าสถานศึกษาตั้งเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะเป็นผู้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้เป็นปัจจุบัน และตั้งกรรมการอย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ร่วมรับผิดชอบในการรักษาเงินและเป็นผู้ตรวจการรับจ่ายเงินให้เรียบร้อย ซึ่งต่อมาในปี 2538 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติมีหนังสือถึงผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งแนวปฏิบัติเกี่ยวกับระบบบัญชี การรับจ่ายเงิน การลงบัญชี การรักษาเงินและการตรวจสอบเงินค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนประถมศึกษาให้ถูกต้องเป็นแนวเดียวกันตามหนังสือตอบข้อหารือของกรมบัญชีกลาง ทั้งค่าอาหารกลางวันที่ใช้เงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณซึ่งได้แก่เงินที่ได้รับบริจาคและเงินที่ได้จากการจำหน่ายอาหารด้วย ในหนังสือดังกล่าวข้อ 7 กำหนดด้วยว่า การรับเงินโครงการอาหารกลางวัน ให้ออกใบเสร็จรับเงินของโรงเรียนทุกรายการ จึงเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้นว่า การจัดโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาไม่ว่าจะเป็นกรณีใช้เงินงบประมาณ หรือใช้เงินนอกงบประมาณ ล้วนเป็นการดำเนินการตามกฎหมายและตามระเบียบของทางราชการที่กำหนดไว้ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับการจัดโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนอนุบาลระยองได้ความตามคำเบิกความของนายพเยาว์ ผู้อำนวยการโรงเรียน นางสาวสุนาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการ นางละออง เจ้าหน้าที่บัญชี พยานโจทก์สอดคล้องกันว่า โรงเรียนเรียกเก็บค่าอาหารกลางวันจากผู้ปกครองนักเรียนทุกคนตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการโดยนักเรียนระดับอนุบาลเรียกเก็บอัตราคนละ 800 บาทต่อหนึ่งภาคเรียน เมื่อผู้ปกครองนักเรียนชำระเงิน ทางโรงเรียนจะออกใบเสร็จรับเงินที่ใช้ในราชการสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติตามตัวอย่างใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่จำเลยเมื่อจำเลยผ่อนชำระเงินคืน ให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนเป็นหลักฐาน โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงินดังกล่าว เมื่อสิ้นสุดวันทำการจำเลยมีหน้าที่นำสำเนาใบเสร็จรับเงินและเงินที่รับไว้ทั้งหมดไปมอบให้นางละอองเพื่อจัดการลงบัญชีและนำฝากเข้าบัญชีตามระเบียบของทางราชการ นายพเยาว์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า เงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนถือว่าเป็นเงินของทางราชการ จึงฟังได้ว่าเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนที่โรงเรียนอนุบาลระยองเรียกเก็บจากผู้ปกครองนักเรียน เป็นการเรียกเก็บตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวอันเป็นการเรียกเก็บในทางราชการ เงินที่ได้มาจึงเป็นเงินของทางราชการประเภทเงินนอกงบประมาณ ที่นายพเยาว์ทำหนังสือชี้แจงผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 2 ว่า โรงเรียนอนุบาลระยองจัดเก็บเงินค่าอาหารกลางวันตามวิธีการจัดประเภทที่ 1 คือตกลงจัดเก็บกันเองในหมู่ครูและนักเรียนที่สมัครเป็นสมาชิกโครงการ ทำนองไม่ได้เรียกเก็บตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และที่จ่าสิบเอกวราห์เบิกความตามหนังสือชี้แจงดังกล่าวว่าการเรียกเก็บค่าอาหารกลางวันนักเรียนของโรงเรียนอนุบาลระยอง ไม่ได้เรียกเก็บตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการหรือกฎหมายใด นั้น ไม่มีเหตุผลฟังได้ เพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการเรียกเก็บจากผู้ปกครองนักเรียนทุกคนจึงมีลักษณะเป็นการบังคับอยู่ในตัว มิใช่ให้ผู้ปกครองเลือกว่าจะสมัครเป็นสมาชิกโครงการหรือไม่เป็นสมาชิกก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโรงเรียนมีการประชุมผู้ปกครองและครูเพื่อทำข้อตกลงจัดตั้งโครงการอาหารกลางวันหรือจัดทำข้อบังคับสำหรับโรงเรียนขึ้นโดยเฉพาะต่างไปจากระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใด เมื่อการจัดโครงการอาหารกลางวันแก่นักเรียนเป็นการปฏิบัติราชการและเงินค่าอาหารกลางวันเป็นเงินของโรงเรียนประเภทเงินนอกงบประมาณ จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเป็นหัวหน้าสถานศึกษาที่จะต้องบริหารจัดการและควบคุมตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ แม้จำเลยรับราชการครูซึ่งโดยทั่วไปมีหน้าที่หลักเป็นครูผู้สอน แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนในฐานะเป็นผู้บริหารสถานศึกษาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 และในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่รับจ่ายเงินและเก็บรักษาเงินค่าอาหารกลางวันอันเป็นงานบริหารจัดการซึ่งเป็นราชการทั่วไปของโรงเรียนได้ การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการรับและเก็บรักษาเงินค่าอาหารกลางวันตามคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย
ส่วนปัญหาว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนไปโดยทุจริตหรือไม่นั้น เห็นว่า ใบเสร็จรับเงินที่จำเลยไม่ได้นำไปให้นางละอองลงบัญชีมี 5 เล่ม จำนวน 250 ฉบับ น่าเชื่อว่าเป็นการรับเงินหลายครั้งและเงินที่รับรวบรวมไว้เป็นเงินค่อนข้างมาก ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะเก็บไว้ในตู้เอกสารโดยพลั้งเผลอหรือหลงลืม และเมื่อถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบถาม หากหลงลืมจริงจำเลยย่อมต้องระลึกได้และชี้แจงเหตุผลที่มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบพร้อมทั้งค้นหาเอกสารกับเงินทั้งหมดมาคืนได้โดยทันทีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบและทักท้วง ไม่มีเหตุต้องยอมรับว่านำเงินไปใช้ส่วนตัวหมดแล้วและต้องทยอยนำเงินมาผ่อนชำระคืนหลายงวด ใช้เวลาถึง 1 เดือนเศษจึงครบถ้วน ข้ออ้างของจำเลยขัดต่อเหตุผลและถ้อยคำยอมรับผิดของจำเลยหลายคราวดังกล่าว ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้มั่นคงปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเบียดบังเอาเงินค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนอนุบาลระยองที่อยู่ในหน้าที่เก็บรักษาของจำเลยจำนวน 285,500 บาท ไปโดยทุจริต เป็นความผิดตามฟ้อง คดีนี้แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเงินค่าอาหารกลางวันเป็นเงินบำรุงการศึกษา แต่ทางพิจารณาได้ความว่าตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการมิให้ถือว่าเป็นเงินบำรุงการศึกษา ก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญหรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องที่จะต้องยกฟ้อง เพราะยังคงฟังได้ตามฟ้องว่าเงินค่าอาหารกลางวันเป็นเงินของทางราชการ (ประเภทเงินนอกงบประมาณ) ที่อยู่ในอำนาจเก็บรักษาของจำเลยโดยหน้าที่ราชการตามฟ้องอยู่นั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share