คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เดิมจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน แล้วโอนคดีมาให้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก เมื่อความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีคงเหลือเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก่อน โดยต้องให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยกลับไปเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้” ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เดิมจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน แล้วโอนคดีมาให้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก เมื่อความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีคงเหลือเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก่อน โดยต้องให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยกลับไปเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share