แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองเพียงผู้เดียวผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์การครอบครองทรัพย์เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์อย่างหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่1ครอบครองดูแลจัดการทรัพย์สินของโจทก์ที่2สาขาบางกะปิ เป็นผู้จัดการธนาคารอันเป็นกิจการที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการเงินจำเลยที่1จึงเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนการกระทำของจำเลยที่1ดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา354ประกอบด้วยมาตรา353และมาตรา352วรรคหนึ่งส่วนการที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ร่วมกับจำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาบางกะปิของโจทก์ที่2ยักยอกทรัพย์ของจำเลยที่2เมื่อจำเลยที่2มิใช่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนจำเลยที่2ย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา352วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา83 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำหลักฐานเท็จในการที่จำเลยที่2ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ที่2ครั้งแรกในวงเงิน1,000,000บาทโดยจำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะเบียดบังเอาเงินของโจทก์ที่2ไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้วเมื่อต่อมาจำเลยที่2ได้ร่วมกันทำหลักฐานเท็จในการที่จำเลยที่1ขอกู้เงินเกินบัญชีเพิ่มเติมอีก3ครั้งในวงเงิน500,000บาท400,000บาทและ800,000บาทตามลำดับจากโจทก์ที่2การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งนั้นจึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันจำเลยทั้งสองจึงร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอกรวม4กรรม
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมาโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2 ตามลำดับกับให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังและจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารของโจทก์ที่ 2 ผู้เสียหาย ได้ครอบครองเงินของผู้เสียหายที่ลูกค้าของผู้เสียหายนำมาฝากประจำไว้ที่สาขาบางกะปิครั้งละ 1,000,000 บาท รวม 3 ครั้ง แล้วจำเลยที่ 1ได้เบียดบังยักยอกเงินของผู้เสียหายที่เก็บรักษาไว้ที่สาขาบางกะปิครั้งละ 1,000,000 บาท ดังกล่าวไปเป็นของจำเลยที่ 1 เองและเป็นของบุคคลที่สามโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354, 91และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
สำนวนหลังโจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354, 83, 86, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนหลังแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 รวม 4 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 353 ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี 3 เดือนรวม 4 กระทง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 (ที่ถูกคือมาตรา 352 วรรคหนึ่ง) ประกอบด้วยมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองเพียงผู้เดียว ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ การครอบครองทรัพย์เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในการกระทำความผิดฐานยักยอกอย่างหนึ่งเท่านั้นแต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนกระทำความผิดตามมาตรา 352 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354ประกอบด้วยมาตรา 353 และ 352 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ที่ 2นั้น เมื่อจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่งประกอบด้วย มาตรา 83
เมื่อจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำหลักฐานเท็จในการที่จำเลยที่ 2 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ที่ 2 ครั้งแรกในวงเงิน1,000,000 บาทเพื่อให้โจทก์ที่ 2 อนุมัติให้จำเลยที่ 2กู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยจำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะเบียดบังเอาเงินของโจทก์ที่ 2 ไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 2เบียดบังเอาเงินดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 ไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ดังนั้นเมื่อต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันทำหลักฐานเท็จในการที่จำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง ในวงเงิน 500,000 บาท400,000 บาท และ 800,000 บาท ตามลำดับจากโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 หลงเชื่ออนุมัติให้จำเลยที่ 2 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมได้เช่นนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแต่ละครั้งนั้นจึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน จำเลยทั้งสองจึงได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอกรวม 4 กรรมมิใช่กรรมเดียว
พิพากษายืน