คำวินิจฉัยที่ 103/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจ มีภารกิจเพื่อดำเนินงานกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามเงื่อนไขดังกล่าวในสัญญา ส่วนจำเลยให้การว่า ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา คดีนี้จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายมันสำปะหลัง ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
สัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้จัดหาตลาดเพื่อระบายสินค้าที่รับจำนำจากเกษตรกรไปยังต่างประเทศในเวลาที่กำหนด อันเป็นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรของคนไทยเพื่อการส่งออกตามอำนาจหน้าที่ในการดำเนินบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยมุ่งหมายก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมากกว่าการมุ่งแสวงหาผลกำไรในเชิงพาณิชย์ จึงเป็นกรณีให้ผู้ฟ้องคดี เข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาและให้คืนเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๓/๒๕๕๗

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๕ บริษัทเจสซี่ เจมส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง องค์การคลังสินค้า ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๙๙/๒๕๕๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าประเภทมันสำปะหลังเส้น เพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี ๒๕๕๑/๕๒ จำนวน ๓๓,๓๐๑,๓๐๑.๔๓๑ กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ ๕.๓๑ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีตกลงส่งมอบและผู้ฟ้องคดีตกลงรับมอบสินค้า ณ หน้าคลังสินค้าของนายวีระศักดิ์ โรจน์รัตนชัย (หลังที่ ๑) ซึ่งเป็นที่เก็บรักษามันสำปะหลัง โดยผู้ฟ้องคดีต้องเริ่มรับมอบและขนย้ายภายใน ๓ วันทำการ นับแต่วันที่ชำระเงิน รวมทั้งต้องชำระเงินและขนย้ายสินค้าทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓ กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ตกลงซื้อขายจะโอนไปยังผู้ฟ้องคดีเฉพาะปริมาณสินค้าที่ผู้ซื้อได้ชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าตามสัญญาทั้งหมดออกไปนอกราชอาณาจักรโดยอาจส่งออกในรูปมันอัดเม็ดภายใน ๖๐ วันนับแต่วันสิ้นสุดกำหนดการรับมอบ โดยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีได้นำแคชเชียร์เช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน ๘,๘๔๑,๕๐๐ บาท มอบให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดียึดถือเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ภายหลังจากทำสัญญา ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีขอขยายเวลารับมอบสินค้า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้แจ้งว่าไม่อนุญาตให้ขยายเวลาดังกล่าวถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ขยายเวลารับมอบสินค้าให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยปริยาย ต่อมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีได้ติดต่อกับผู้ถูกฟ้องคดีและทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะยังไม่ดำเนินการส่งมอบสินค้า เนื่องจากมีเหตุสงสัยว่ามันสำปะหลังเส้นภายในคลังสินค้าสูญหาย ผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งว่าสินค้าสูญหายเป็นกรณีพิพาทระหว่างเจ้าของคลังสินค้ากับผู้ถูกฟ้องคดีต้องว่ากล่าวกันเองตามสัญญารับฝากสินค้าและเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีได้ชำระค่าสินค้า จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ กิโลกรัม แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ เนื่องจากสินค้าสูญหาย หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินและรับมอบสินค้าที่เหลืออยู่ภายในคลังสินค้าซึ่งเป็นเวลาหลังจากวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๓ และเป็นวันที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรให้แล้วเสร็จตามสัญญา ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีสละเงื่อนเวลาตามสัญญาโดยมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญแห่งข้อตกลงซื้อขายสินค้าอีกต่อไป ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการชำระราคาสินค้าเพิ่มเติมอีก ๑,๘๐๐,๐๐๐ กิโลกรัม และเริ่มทยอยรับมอบสินค้าบางส่วนตามวิธีการที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนด แต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีของดส่งมอบสินค้า ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีให้ดำเนินการส่งมอบสินค้าเพื่อผู้ฟ้องคดีจะได้ดำเนินการส่งออกนอกราชอาณาจักรให้แล้วเสร็จ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอให้คืนเงินหลักประกันตามสัญญาเนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าล่าช้าซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือถึงคลังสินค้าแจ้งเรื่องเกิดเพลิงไหม้กองมันเส้นจนเหลือสินค้าไม่มากและต่อมาได้มีหนังสือเร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินและรับมอบสินค้าโดยอ้างว่ามีสินค้าเหลืออยู่อีก ๖,๓๙๕,๖๖๐ กิโลกรัม ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีว่าพร้อมรับมอบสินค้าที่เหลือภายในกำหนดเวลาอันสมควร แต่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องดำเนินการคัดแยกสินค้าส่วนที่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้เสียก่อน ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งขอรับมอบสินค้าที่เหลือทั้งหมด และแจ้งกำหนดวันรับมอบมันสำปะหลังเส้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้รับมอบสินค้าที่เหลือทั้งหมดแล้วและได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาเนื่องจากรับมอบสินค้าเสร็จสิ้นตามสัญญาแล้ว และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี คืนเงินส่วนที่ชำระค่าสินค้าเกิน ๓,๙๖๘,๘๗๘ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีและเงินค้ำประกันตามสัญญา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดี และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามเงื่อนไขในสัญญาเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๒๒,๑๓๒,๓๙๒.๖๙ บาท โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีรับมอบและส่งมันสำปะหลังเส้นออกนอกราชอาณาจักรเกินกำหนดระยะเวลาที่ขยายออกไป ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านเนื่องจากเหตุที่ผู้ฟ้องคดีรับมอบมันสำปะหลังล่าช้ามิใช่ความผิดของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีว่า ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามเงื่อนไขในสัญญา กับขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินส่วนที่ชำระค่าสินค้าเกินและเงินค้ำประกันตามสัญญา เป็นเงิน ๑๔,๗๐๕,๖๑๑ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่เป็นฝ่ายผู้ฟ้องคดีปฏิบัติผิดสัญญาผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้สละเงื่อนเวลาตามสัญญา และยึดถือเอากำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญแห่งข้อตกลงซื้อขายดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีไม่มารับมอบมันสำปะหลังเส้นภายในเวลาที่กำหนด ผู้ฟ้องคดีได้รับมอบมันสำปะหลังเส้นและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่ขอขยายออกไป จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและค่าปรับตามเงื่อนไขในสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำผิดสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร เป็นสัญญาซื้อขายที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน อันเป็นสัญญาทางแพ่งและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ความเห็นระหว่างศาล
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ ฉบับพิพาท เป็นสัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นองค์การคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทำสัญญากับผู้ฟ้องคดีให้จัดหาตลาดเพื่อระบายสินค้าที่รับจำนำจากเกษตรกรไปยังต่างประเทศภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นขั้นตอน ที่ต่อเนื่องจากการรับจำนำมันสำปะหลัง ตามวัตถุประสงค์ของโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังอีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรของคนไทยเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗ (๘) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ สัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีบรรลุผล จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองและโดยที่โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ อันเป็นมูลพิพาทในคดีนี้ เป็นมาตรการของรัฐบาลในการพยุงราคามันสำปะหลังเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีผลกระทบต่อกลไกตลาดปกติ อันเป็นการกระทำในทางกฎหมายมหาชนและเป็นโครงการพิเศษที่ต้องจ่ายเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากซึ่งมีแหล่งที่มาจากภาษีอากรที่มาจากประชาชน มิใช่การจ่ายงบประมาณปกติ ผลแห่งคดีนี้อาจทำให้รัฐต้องจ่ายเงินภาษีอากรประชาชนโดยส่วนรวม เพื่อเป็นค่าเสียหายให้แก่เอกชนที่เป็นผู้ฟ้องคดี จึงสมควรใช้วิธีพิจารณาในระบบไต่สวน เพื่อให้สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้อย่างแท้จริง จึงเห็นว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นในคดีนี้เป็นข้อพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีฐานผิดสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักร โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ข้อตกลงในสัญญาซื้อขายนี้ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเป็นข้อสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ เพื่อให้ดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล แต่เป็นสัญญาซื้อขายในทางแพ่งทั่วไปที่มีคู่สัญญาอีกฝ่ายเป็นหน่วยงานทางปกครอง สัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เนื่องจากสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเส้นคู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจมีภารกิจเพื่อดำเนินงานกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามเงื่อนไขดังกล่าวในสัญญา ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย คดีนี้จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองและมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี ๒๕๕๑/๕๒ ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้จัดหาตลาดเพื่อระบายสินค้าที่รับจำนำจากเกษตรกรไปยังต่างประเทศในเวลาที่กำหนด อันเป็นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรของคนไทยเพื่อการส่งออกตามอำนาจหน้าที่ในการดำเนินบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยมุ่งหมายก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลังมากกว่าการมุ่งแสวงหาผลกำไรในเชิงพาณิชย์ จึงเป็นกรณีให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดี กล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาและให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทเจสซี่ เจมส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ฟ้องคดี องค์การคลังสินค้า ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share