คำวินิจฉัยที่ 101/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เทศบาลตำบล ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ฟ้องเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนจากเอกชนเพราะเหตุเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ เห็นว่า การที่โจทก์ขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลยเป็นการใช้อำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๕๒ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง และเมื่อโจทก์มีคำสั่งถอนรายชื่อจำเลยออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลยเพราะเหตุจำเลยขาดคุณสมบัติ พร้อมกับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงิน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองซึ่งเป็นการให้เงิน หรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ที่โจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้มีผลย้อนหลังการคืนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่จำเลยผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไป ตามมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งถอนรายชื่อและระงับการจ่ายเงินให้แก่จำเลยจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ตามคำขอได้หรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดเพียงใด นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งของโจทก์ที่ถอนรายชื่อจำเลยออกจากบัญชีและระงับการจ่ายเงินให้แก่จำเลยเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่เพียงใด ซึ่งจะต้องพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยเฉพาะ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๑/๒๕๕๗

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแขวงลำปาง
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงลำปางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ เทศบาลตำบลต้นธงชัย โจทก์ ยื่นฟ้องนายนิพนธ์ กันตี จำเลย ต่อศาลแขวงลำปาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๔/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โจทก์มีหนังสือขอให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านในเขตตำบลธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีอายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๒ ยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (แบบ สผส. ๑) ต่อโจทก์ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพหรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ จำเลยได้ยื่นแบบเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อโจทก์โดยยื่นหลักฐานและกรอกข้อความรับรองตนเองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ในการเป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบคุณสมบัติของจำเลยตามแบบที่ยื่นแล้วเห็นว่าจำเลยมีคุณสมบัติครบถ้วน โจทก์จึงมีคำสั่งรับขึ้นทะเบียนให้จำเลยเป็นผู้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และจ่ายเงินให้แก่จำเลยตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๒ ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๕๕ เป็นเงิน ๒๒,๘๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าขณะจำเลยยื่นแบบนั้น จำเลยรับราชการเป็นลูกจ้างประจำของสำนักงานจังหวัดลำปาง ได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนเดือนละ ๑๕,๒๖๐ บาท และเกษียณอายุราชการในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ โดยรับบำเหน็จเดือนละ ๙,๕๓๗ บาท จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๒ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๖ (๔) โจทก์มีคำสั่งถอนรายชื่อและระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแก่จำเลย และมีหนังสือทวงถามให้จำเลย คืนเงินที่รับไป แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า การพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการจ่ายเงินให้แก่จำเลยเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง ซึ่งผู้แทนของโจทก์นำแบบคำขอขึ้นทะเบียนมาให้จำเลยลงลายมือชื่อ แล้วผู้แทนโจทก์เป็นผู้กรอกรายละเอียด ทั้งการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่จำเลยเป็นเวลา ๓ ปีเศษ โจทก์สามารถตรวจสอบคุณสมบัติของจำเลยได้ แต่กลับละเลยไม่ตรวจสอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินเบี้ยยังชีพคืน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากคำสั่งของโจทก์ที่ว่าจำเลยมีลักษณะต้องห้ามตามคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงลำปางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จำเลยรับไปจากโจทก์ อ้างว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว เนื่องจากขณะยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำเลยรับราชการเป็นลูกจ้างประจำและหลังเกษียณอายุราชการ จำเลยได้รับบำเหน็จรายเดือนจากทางราชการอันเป็นการขาดคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๒ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๕๒ ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลยโดยประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์ตรวจสอบคุณสมบัติการรับราชการเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้ แต่โจทก์ไม่ตรวจสอบเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนจากจำเลย โดยจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งว่าจำเลยมีคุณสมบัติที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพตามหลักเกณฑ์และระเบียบของทางราชการ ดังนั้น มูลความแห่งคดีจึงมิใช่คดีพิพาทกันเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แต่เป็นเรื่องโจทก์ติดตามเอาคืนทรัพย์จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์โดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์อาศัยอำนาจตามข้อ ๗/๑ และข้อ ๑๓ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๕๒ ขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลย อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่โจทก์มีคำสั่งถอนรายชื่อจำเลยออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลย พร้อมกับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงิน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ทำการพิจารณาเรื่องทางปกครองเรื่องเดียวกันนั้นอีกครั้งหนึ่ง และมีการพิจารณาตัดสินใจในเนื้อหาของเรื่องนั้นแตกต่างจากเดิมโดยออกคำสั่งถอนรายชื่อจำเลยออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนจำเลยและการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลยที่ได้กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งถอนรายชื่อและระงับการจ่ายเงินให้แก่จำเลยจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้รับหนังสือของโจทก์ที่ให้คืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิคืนให้แก่โจทก์ คดีจึงมีปัญหาที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งของโจทก์ที่ถอนรายชื่อจำเลยออกจากบัญชีและระงับการจ่ายเงินให้แก่จำเลยเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ ตามนัยมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ การเรียกเงินคืนดังกล่าวจึงต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มิได้นำหลักเกณฑ์เรื่องการติดตามเอาทรัพย์คืนตามมาตรา ๑๓๓๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแต่อย่างใด คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๖/๒๕๔๖

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง ฟ้องเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนจากจำเลยเพราะเหตุจำเลยเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ส่วนจำเลยให้การว่า การพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการจ่ายเงินให้แก่จำเลยเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง โจทก์สามารถตรวจสอบคุณสมบัติของจำเลยได้ แต่ละเลยไม่ตรวจสอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินเบี้ยยังชีพคืน และจำเลยไม่ต้องรับผิด เห็นการที่โจทก์ขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบิกจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลย เป็นการใช้อำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๗/๑ และข้อ ๑๓ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และเมื่อโจทก์มีคำสั่งถอนรายชื่อจำเลยออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่จำเลยเพราะเหตุจำเลยขาดคุณสมบัติ พร้อมกับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงิน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองซึ่งเป็นการให้เงิน หรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ที่โจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้มีผลย้อนหลังการคืนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่จำเลยผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไปตามมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คำสั่งถอนรายชื่อและระงับการจ่ายเงินให้แก่จำเลยจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ตามคำขอได้หรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดเพียงใด นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งของโจทก์ที่ถอนรายชื่อจำเลยออกจากบัญชีและระงับการจ่ายเงินให้แก่จำเลยเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ ตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่เพียงใด ซึ่งจะต้องพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยเฉพาะ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างเทศบาลตำบลต้นธงชัย โจทก์ นายนิพนธ์ กันตี จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share