แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 แต่เหตุรับของโจรโฉนดที่ดินเลขที่ 19724 และฐานใช้เอกสารปลอมเกิดวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ขณะที่ ป. ยังมีชีวิตอยู่ ป. จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ส่วนโจทก์ผู้สืบสันดานจะมีสิทธิฟ้องแทน ป. ได้ต่อเมื่อ ป. ได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แต่ตามฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่า ขณะ ป. มีชีวิต ป. ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย โฉนดที่ดินเลขที่ 19724 ตกทอดแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ มาตรา 1600 นั้น เป็นกรณีทรัพย์มรดกของ ป. ตกทอดแก่ทายาท เป็นสิทธิในทางแพ่งเท่านั้น แม้หากโจทก์จะมีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในทางอาญาดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 (3) (8), 357 และมาตรา 266 (1), 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหารับของโจรและปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานรับของโจร จำคุก 2 ปี ฐานใช้เอกสารปลอม จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ทางพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานรับของโจรและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2539 มีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านเลขที่ 204 หมู่ที่ 7 ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาทรัพย์ดังกล่าวไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง วันที่ 13 ธันวาคม 2539 และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมลายนิ้วมือของนายปั๋นลงในสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง โดยโจทก์นำสืบว่า นายปั๋นมีที่ดิน 3 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 3480, 3491 และ 19724 ตั้งอยู่ที่ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โฉนดที่ดินเลขที่ 3480, 19724 และทรัพย์สินอื่น ได้แก่ สูติบัตรใบแทนของโจทก์ 1 ฉบับ พระเลี่ยมทอง 4 องค์ และพระเครื่องต่าง ๆ อีกหลายองค์ซึ่งเก็บไว้ในกล่องบรรจุสิ่งของ โจทก์ตรวจสอบพบว่าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 มีการนำโฉนดเลขที่ 3480 ไปจำนองแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาจอมทอง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีลายพิมพ์นิ้วมือของนายปั๋นเป็นผู้ยินยอมให้จำนอง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 19724 มีนายปั๋นและนางคำเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่มีการจำนองประกันหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาจอมทอง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 เพื่อประกันหนี้จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วนายปั๋นถึงแก่ความตายวันที่ 24 ตุลาคม 2544 แต่เหตุรับของโจรโฉนดที่ดินเลขที่ 19724 และฐานใช้เอกสารปลอมเกิดวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ขณะที่นายปั๋นยังมีชีวิตอยู่ นายปั๋นจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2) สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ส่วนโจทก์ผู้สืบสันดานจะมีสิทธิฟ้องแทนนายปั๋นได้ต่อเมื่อนายปั๋นได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แต่ตามฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่า ขณะนายปั๋นมีชีวิต นายปั๋นไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเมื่อนายปั๋นถึงแก่ความตาย โฉนดที่ดินเลขที่ 19724 ตกทอดแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 นั้น เป็นกรณีทรัพย์มรดกของนายปั๋นตกทอดแก่ทายาท เป็นสิทธิในทางแพ่งเท่านั้น แม้หากโจทก์จะมีสิทธิได้รับมรดกของนายปั๋นก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในทางอาญาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน