แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอแก้วันกระทำผิดในฟ้องเมื่อสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 3 ปากโดยอ้างเหตุผลในคำร้องขอแก้ฟ้องว่า เพราะรายงานการสอบสวนของพนักงานบกพร่องทำให้อัยการโจทก์เข้าใจผิด ถือได้ว่ามีเหตุสมควรและเป็นการขอแก้รายละเอียดในฟ้อง เมื่อไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลงข้อต่อสู้คดีแล้ว โจทก์ย่อมขอแก้ได้
(อ้างฎีกาที่ 390/2484 และที่ 364/2494)
ข้อที่ว่าการขอแก้ฟ้องจะทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือไม่นั้น เมื่อปรากฎว่าในชั้นยื่นคำร้องขอให้ขังจำเลยก่อนฟ้องคดีนี้กับปรากฎว่าเหตุเกิดในวันที่ตรงกับที่ขอแก้ไขใหม่ซึ่งจำเลยได้รับสำเนาไปแล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ เพราะโจทก์ยังสืบพยานไม่หมด และจำเลยก็ยังได้นำสืบต่อสู้ตามวันที่โจทก์ขอแก้วันเกิดเหตุนั้นด้วย
ย่อยาว
เรื่องปล้นทรัพย์
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๙๘ เวลา กลางวัน จำเลยสมคบกันมีมีดดาบเป็นอาวุธทำการปล้นธนบัตรของนายกี่ แซ่ตั้น ไปรวม ๑๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษ
จำเลยปฏิเสธ ต่อสู้ฐานที่อยู่
เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไปได้ ๓ คนแล้ว ปรากฎจากคำพยานที่สืบไปแล้วว่า เหตุเกิดวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๘ จำเลยยื่นคำแถลงว่าทางพิจารณาต่างกับฟ้อง ขอให้ศาลพิจารณาข้อกฎหมาย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง อ้างว่า รายงานการสอบสวนว่าเกิดเหตุวันที่๑๔ ทำให้อัยการเข้าใจผิด จึงขอแก้วันเกิดเหตุเป็นวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๘ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำร้องของโจทก์อ้างเหตุผลอันสมควรและจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ จึงอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านไว้ว่า จำเลยหลงข้อต่อสู้ ทำให้จำเลยเสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้ง ๔ คนทำผิดตามฟ้อง ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๓๐๑ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.ลักษณะอาญา พ.ศ.๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๔) ม.๗ ให้จำคุกจำเลยคนละ ๑๐ ปี แต่นาย+ จำเลยอายุไม่เกิน ๑๗ ปี และนายเอื้อมจำเลยอายุไม่ครบ ๒๐ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง และ ๑ ใน ๓ ตาม ม.๕๘ และ ๕๘ ทวิ ตามลำดับ คงจำคุกนายนพจำเลย ๕ ปี นายเอื้อมจำเลย ๖ ปี ๘ เดือน กับให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑๐๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทุกคนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑-๒ ฎีกาโต้แย้งคัดค้านในการที่ศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะทำให้จำเลยเสียเปรียบ และหลงข้อต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง อ้างฎีกาที่ ๗๗๔/๒๔๘๑ และที่ ๒๔๗/๒๔๙๒ ขึ้นสนุบสนุน
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์สืบพยานของโจทก์ไปแล้วได้ ๓ ปากจากคำพยานปรากฎว่า เหตุเกิดวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๘ และต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงว่าทางพิจารณาพยานโจทก์แตกต่างกับฟ้อง โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง โดยอ้างเหตุผลว่า เพราะรายงานการสอบสวนของพนักงานสอบสวนบกพร่องทำให้อัยการเข้าใจผิด จึงได้ร้องขอแก้วันเกิดเหตุเป็นวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๘ การขอแก้วันทำผิดในฟ้องเมื่อสืบพยานโจทก์ไปแล้ว ๓ ปาก ถือได้ว่าเป็นการขอแก้รายละเอียดในฟ้อง เมื่อไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลงข้อต่อสู้คดีแล้ว โจทก์ย่อมขอแก้ได้ ตามฎีกาที่ ๓๙๐/๒๔๘๔ และฎีกาที่ ๓๖๔/๒๔๙๔
ในข้อที่ว่าการขอแก้ฟ้องจะทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือไม่นั้นปรากฎว่าในชั้นแรกที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ขังจำเลยก่อนฟ้องคดีนี้ ก็ปรากฎว่า เหตุเกิดวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๘ ซึ่งจำเลยได้รับสำเนาไปแล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบอย่างไร เพราะโจทก์ยังสืบพยานไม่หมด และจำเลยก็ยังได้นำสืบต่อสู้ตามวันที่โจทก์ขอแก้วันเกิดเหตุนั้นด้วย ฎีกา ๒ เรื่องที่จำเลยอ้างมา ข้อเท็จจริงที่โจทก์ในเรื่องนั้น ๆ ขออ้างเป็นเหตุขอแก้ฟ้อง ไม่เหมือนเรื่องนี้ จึงเอาเป็นบันทัดฐานไม่ได้ และฟังข้อเท็จจริงตามศาลล่าง พิพากษายืน