แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นและบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายนั้นด้วย” ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะมีโครงการก่อสร้างอาคารโดยจ้างบุคคลภายนอกให้ออกแบบก่อสร้างจนถึงขนาดได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้อนุญาตก่อสร้าง แต่เมื่อยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างก็ไม่อาจรับนับว่าโจทก์ทั้งสองประกอบการค้าขายหรือการงานอยู่ในที่ดิน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 312,886,949.99 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน หรืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 286,890,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งซึ่งผิดหลง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า สมควรกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ทั้งสองตารางวาละ 350,000 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาหรือไม่ เห็นว่า โดยสภาพการเวนคืนเพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าด้านหน้าของแปลงที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเหลือเป็นทางเข้าออกสู่ถนนรัชดาภิเษกกว้างประมาณ 18 เมตร ยาวลึกเข้าไปประมาณ 83 เมตร ซึ่งประมาณได้ว่าเหลือเนื้อที่ดินด้านในเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดราว 100 x 72 เมตร นั้น ไม่ว่าจะคำนึงถึงเหตุผลข้อด้อยลงประการใดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลดีโดยตรงทำให้ที่ดินที่เหลืออยู่ดังกล่าวซึ่งยังคงศักยภาพขนาดของแปลงที่ดินในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าค้าขายด้านความสูงของอาคารกัน ได้รับความสะดวกในการคมนาคมมากขึ้น เนื่องเพราะรถไฟฟ้าที่รัฐจัดให้มีขึ้นนั้นเป็นการคมนาคมทางเลือกที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ถนนรัชดาภิเษกซึ่งมีอยู่เดิมจะคำนึงแต่เฉพาะทางเข้าออกแปลงที่ดินของโจทก์ทั้งสองสู่ถนนรัชดาภิเษกที่เปลี่ยนไปดังข้อฎีกาของโจทก์ทั้งสองเป็นเกณฑ์ด้อยลงในประการสำคัญย่อมไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเวนคืนดังกล่าวกำหนดส่วนที่เวนคืนเป็นสถานีรถไฟฟ้าด้วยแล้ว ย่อมทำให้การพัฒนาธุรกิจในที่ดินที่เหลือของโจทก์ทั้งสองมีโอกาสดีขึ้นกว่าแต่เดิมแน่นอน เพราะตามแบบช่องทางให้คนเดินสู่สถานีรถไฟฟ้าที่สร้างทำขึ้นดังที่คู่ความมิได้โต้เถียงกัน แม้แต่ผู้ที่อยู่บนถนนรัชดาภิเษกอีกฝั่งก็สามารถใช้ทางเดินใต้ดินซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า เดินทางสู่ที่ดินที่เหลือของโจทก์ทั้งสองได้โดยง่าย อีกทั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เหลืออยู่จากการเวนคืนส่วนใหญ่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ทั่วไป บ่งบอกว่าเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนา ในขณะที่เจ้าของที่ดินรายอื่นซึ่งเคียงอยู่กับที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีการลงทุนพัฒนาโดยการก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงานหรืออาคารพาณิชย์จนผู้คนเข้าประกอบกิจการในอาคารต่าง ๆ เหล่านั้นได้แล้วอันทำให้ที่ดินริมถนนรัชดาภิเษกละแวกเดียวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาสูงขึ้นเรื่อยมาแม้โจทก์ทั้งสองจะอยู่ในระหว่างดำเนินการเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างดังที่อ้างนำสืบมาก็ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีส่วนในการทำให้ราคาที่ดินละแวกนี้มีราคาสูงขึ้นแต่อย่างใดดังเห็นได้จากลักษณะที่ดินของโจทก์ทั้งสองขณะฟ้องคดียังคงมีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำกว่าระดับถนนรัชดาภิเษกถึง 50 เซนติเมตร ที่สำคัญอาคารของผู้อื่นซึ่งก่อสร้างทำขึ้นริมถนนรัชดาภิเษกดังกล่าวระนาบเดียวกับแปลงที่ดินโจทก์ทั้งสองก็ก่อสร้างทำขึ้นโดยตัวอาคารต้องถอยร่นห่างจากริมถนนดังกล่าวตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถก่อสร้างอาคารชิดแนวถนนได้ การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองโดยรวมที่ดินที่ต้องเว้นไว้เป็นระยะร่นดังกล่าวเข้าด้วยจึงคำนวณนับเป็นคุณแก่โจทก์อยู่บางส่วนแล้วดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ และฝ่ายจำเลยยังกำหนดราคาค่าทดแทนเป็นราคาเฉลี่ยทั้งแปลงในส่วนที่เวนคืนเหล่านี้โดยมิได้คำนึงถึงความลึกห่างจากแนวถนนดังกล่าวอย่างราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินซ้ำด้วย นอกจากนั้นที่โจทก์ทั้งสองยกเป็นข้อเถียงสำคัญในฎีกาว่า การเวนคืนทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองกลายผังรูปที่ดินเป็นซอยเข้าสู่ที่ดินที่เหลืออยู่ด้านใน ก็ไม่ถนัดขัดกับข้อความจริง เพราะเมื่อนำระยะ 18 เมตร ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าความกว้างของซอยที่เกิดขึ้นนั้นเปรียบเทียบกับความกว้างของถนนรัชดาภิเษกฝั่งเดียวกับแปลงที่ดินซึ่งมีมากกว่า 3 ช่องเดินรถ ระยะ 18 เมตรดังกล่าวก็ยังมากกว่าความกว้างถนนฝั่งเดียวกับแปลงที่ดิน ลักษณะแปลงที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะถูกเวนคืนดังกล่าวจึงหาใช่ถนนซอยเล็กโดยสภาพอย่างใดเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกว้างของซอยดังกล่าวก็เกิน 15 เมตร ไม่เป็นอุปสรรคขัดข้องต่อระเบียบการสร้างอาคารสูงในที่ดินด้านในที่เหลืออยู่ ส่วนภูมิทัศน์โดยรวมที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ากลายเป็นนอกจากมีอุโมงค์สถานีรถไฟฟ้า (ที่ถูกเวนคืนครั้งแรก) และลานจอดรถแล้ว ยังมีหมู่อาคารสำนักงานซึ่งมีความสูงกว่ามาก สถานีและลานจอดรถบดบังทัศนียภาพนั้น ก็ปรากฏข้อความจริงในท้องสำนวนว่า หมู่อาคาร 3 หลังดังกล่าวมีอาคารเพียงหลังเดียวที่มีความสูงใกล้เคียง 5เมตร ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เหลือจากเวนคืนจึงยังคงศักยภาพและมิได้มีภูมิทัศน์ลดน้อยลงดังที่อ้างในฎีกา ส่วนที่โจทก์ทั้งสองหยิบยกเอาราคาค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยจ่ายแก่แปลงที่ดินของบริษัทแหลมทองค้าสัตว์ จำกัด ระนาบเดียวกันห่างไป 2 ถึง 3 กิโลเมตร ในอัตราตารางวาละ 350,000 บาท มาเปรียบเทียบทำนองว่าฝ่ายจำเลยเลือกปฏิบัตินั้น การเวนคืนที่ดินของบริษัทดังกล่าวก็ปรากฏว่าเป็นที่ดินที่พัฒนาแล้วและถูกเวนคืนส่วนที่ชิดติดถนนเนื้อที่ประมาณ 150 ตารางวาเท่านั้น ที่สำคัญมิได้มีส่วนลึกเลยเข้าไป 70 – 80 เมตร อย่างที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งโดยทั่วไปราคาที่ดินติดถนนรัชดาภิเษกจะมีราคาสูงกว่าที่ดินที่อยู่ถัดเข้าไปด้านใน และที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นที่ดินโล่ง ๆ ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง กับทั้งที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ทั้งสอง ฝ่ายจำเลยก็ยังกำหนดค่าทดแทนเฉลี่ยให้ทั้งแปลง 1,013 ตารางวาในราคาตารางวาละ 320,000 บาท ซึ่งย่อมเห็นได้ว่ามิได้มีลักษณะเลือกปฏิบัติอย่างใดเลยดังนั้น การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสองในราคาตารางวาละ 320,000 บาท โดยถือตามบัญชีประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินซึ่งประกาศใช้ในขณะเวนคืน คือ ระหว่างปี 2539 ถึงปี 2542 และประเมินราคาที่ดินเป็นรายแปลง จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) โดยคำนึงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนและสังคมเป็นสำคัญ ข้อเถียงอื่นในฎีกาประการนี้ของโจทก์ทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ก็วินิจฉัยให้เหตุผลไว้ถูกต้องแล้ว ฎีกาประการนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายที่ว่า สมควรกำหนดค่าเสียหายค่าจ้างออกแบบก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงาน 10,000,000 บาท เป็นค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ทั้งสองเคยว่าจ้างบริษัทแปลนอาคิเทคจำกัด และบริษัทร้อด คอนซัลแต้นท์ จำกัด ออกแบบและก่อสร้างอาคารสูง 61 ชั้น และ 34 ชั้น รวม 2 อาคาร ค่าว่าจ้างประมาณ 37 ล้านบาท และโจทก์ทั้งสองชำระเงินให้แก่บริษัททั้งสองไปแล้ว เป็นเงิน 10 ล้านบาท โดยมีการออกแบบและขออนุญาตก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว การเวนคืนของฝ่ายจำเลยทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงออกแบบใหม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21วรรคท้าย บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นและบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายนั้นด้วย” ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะมีโครงการก่อสร้างอาคารโดยจ้างบุคคลภายนอกให้ออกแบบก่อสร้างจนถึงขนาดได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้อนุญาตก่อสร้างได้ดังที่นำสืบมา แต่เมื่อยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างก็ไม่อาจรับนับว่าโจทก์ทั้งสองประกอบการค้าขายหรือการงานอยู่ในที่ดิน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามที่ฎีกาขอมาฎีกาในประการนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ