คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 687/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเทศบาลเมือง ซึ่งตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 50 (2), 53 บัญญัติให้มีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงทางบกทางน้ำ ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกทางสาธารณะในเขตเทศบาลของตนได้
ทางสาธารณะในเขตเทศบาลซึ่งโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกนั้น โจทก์จะได้รับมอบหมายจากกรมทางหลวงหรือไม่ และจะได้ขึ้นทะเบียนตามคำสั่งที่กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบไว้หรือไม่ ไม่เป็นสาระสำคัญ
จำเลยซื้อที่ดินมาจากผู้อื่น ในหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่า ทิศใต้ติดทางสาธารณะ การที่โจทก์นำสืบพยาน (บุคคล) ว่า ทางสาธารณะนั้นมีอาณาเขตกว้างยาวเท่าใด แม้จะทำให้เนื้อที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายลดความกว้างไปบ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะด้านกว้างและด้านยาวตามหนังสือสัญญาซื้อขายอาจคลาดเคลื่อน หรือคู่สัญญาที่ซื้อขายอาจนำรังวัดรุกล้ำแนวทางสาธารณะก็เป็นได้
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยบุกรุกทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยต้องห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน
(ข้อกฎหมายตามวรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 8 – 9/2512)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเทศบาล เป็นนิติบุคคล และได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองตรัง ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย จำเลยได้ตัดกอไม้ไผ่ตงอันเป็นเครื่องหมายแนวเขตทางสาธารณะ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตรัง ปลูกสร้าง ห้องแถวรุกล้ำทางสาธารณะและได้กั้นรั้วลวดหนามปิดปากทางสาธารณะ ขอให้ขับไล่จำเลย ห้ามเกี่ยวข้อง กับให้รื้อสิ่งปลูกสร้างออกไป
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยปลูกสร้างในที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องว่าจำเลยบุกรุกทางสาธารณะ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามที่เป็นอำนาจดูแลจัดการของนายอำเภอตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ห้ามเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยบุกรุกที่พิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณะในเขตเทศบาลเมืองตรัง
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เทศบาลโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕๐ (๒), ๕๓ เพราะโจทก์ซึ่งเป็นเทศบาลเมือง มีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงทางบกทางน้ำในเขตเทศบาลของตน
เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว ในประเด็นต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า ทางสาธารณะรายนี้เทศบาลโจทก์มิได้รับมอบหมายจากกรมทางหลวงและมิได้ขึ้นทะเบียนตามคำสั่งที่กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบไว้นั้น จึงหาใช่สาระสำคัญไม่
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ทางสาธารณะรายพิพาทมิได้ขึ้นทะเบียน โจทก์สืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารสัญญาซื้อขายท้ายฟ้องซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายแล้วไม่ได้นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินของจำเลยระบุไว้ชัดว่า ทิศใต้ติดทางพลีหรือทางสาธารณะ การที่โจทก์นำสืบว่า ทางพิพาทมีอาณาเขตกว้างยาวเท่าใด แม้จะทำให้เขตที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายลดความกว้างลงไปบ้าง โจทก์ชอบที่จะนำสืบได้เพราะด้านกว้างและด้านยาวตามหนังสือสัญญาซื้อขายนั้น อาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้ หรือคู่สัญญาที่ซื้อขายอาจนำรังวัดรุกล้ำแนวทางสาธารณะเข้าไปก็เป็นได้ จำเลยจะขอถือเป็นยุติตามความกว้างยาวที่ปรากฏในหนังสือสัญญาซื้อขายนั้นหาชอบไม่
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๖
พิพากษายืน.

Share