คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6862/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บุคคลที่มีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกที่อ้างว่าได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษา จึงไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีได้ นอกจากนี้ การที่จะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีนั้นต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เข้าสวมสิทธิแทนได้ เช่น พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นต้น ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยในคดีนี้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 173,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ด้วย ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่อาจเข้าสวมสิทธิโจทก์ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้ ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการเดียวว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์หรือไม่ เห็นว่า บุคคลที่มีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกที่อ้างว่าได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยทั้งสอง ไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษา จึงไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีได้ นอกจากนี้ การที่จะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีนั้น ต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เข้าสวมสิทธิแทนได้ เช่น พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นต้น ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share