แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ที่2ซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแล้วนั้นมีความว่าข้อ1.ลูกหนี้ที่2ยอมชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา130(1)-(7)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483โดยเต็มจำนวนและในทันทีเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ข้อ2นอกจากหนี้ที่กล่าวในข้อ1ลูกหนี้ที่2ยอมชำระบรรดาหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้วเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้มีกำหนดดังนี้คืองวดแรกชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ภายในวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน1ปีโดยแบ่งออกเป็น3งวดงวดละเท่าๆกันโดยมีกำหนด4เดือนต่อ1งวดข้อ3.หนี้ตามข้อ1.และ2.นั้นลูกหนี้ที่2จะชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อปรากฏว่ามีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่2จำนวน10รายซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้วจำนวน9รายแม้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่3คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นเพียงทำให้ไม่สามารถคำนวณค่าธรรมเนียมตามมาตรา130(4)กับจำนวนเงินที่ต้องวางชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ข้อ1.และข้อ2.เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ของเจ้าหนี้รายที่3นี้เท่านั้นแต่สำหรับค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา130(1)-(7)และจำนวนที่ต้องชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งเก้ารายซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้วมิใช่ไม่อาจคำนวณได้และหากต้องรอให้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทุกรายถึงที่สุดก่อนย่อมไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ในรายที่คดีถึงที่สุดซึ่งจะทำให้ได้รับชำระหนี้ล่าช้าออกไปทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อตกลงในการประนอมหนี้ซึ่งกำหนดเวลาการชำระหนี้ไว้โดยชัดแจ้งลูกหนี้ที่2จะนำเหตุที่คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่3ยังไม่ถึงที่สุดมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้เสียทั้งหมดเลยหาได้ไม่เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ที่3นำเงินค่าธรรมเนียมและเงินที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ไปวางชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่2ก็ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการวางเงินโดยอ้างว่ากำลังรวบรวมเงินอยู่และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้โอกาสให้เลื่อนการวางเงินออกไปตามที่ลูกหนี้ที่2ขอแต่เมื่อครบกำหนดแล้วลูกหนี้ที่2กลับเพิกเฉยเสียย่อมเป็นข้อแสดงว่าลูกหนี้ที่2ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ที่2ผิดนักไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ที่2ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา60วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่2เด็ดขาดและคำพิพากษาให้ล้มละลายลับหลังลูกหนี้ที่2โดยในวันนัดลูกหนี้ที่2ไม่ได้มาฟังคำสั่งและคำพิพากษาและระยะเวลานับแต่วันผิดหมายถึงวันอ่านคำสั่งและคำพิพากษาเป็นเวลาน้อยกว่า15วันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา79วรรคสองประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153ซึ่งเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153แม้จะมีผลที่ให้ถือว่าลูกหนี้ที่2ทราบวันนัดอ่านคำสั่งและคำพิพากษาไม่ได้และถือว่าลูกหนี้ที่2ยังไม่ทราบคำสั่งและคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นได้อ่านนั้นก็ตามแต่ต่อมาลูกหนี้ที่2ได้ยื่นอุทธรณ์แสดงว่าลูกหนี้ที่2ได้ทราบคำสั่งและคำพิพากษานั้นแล้วลูกหนี้ที่2จึงไม่ได้รับผลเสียหายใดๆจากการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาที่ผิดระเบียบนั้นเลยจึงไม่มีประโยชน์ที่จะเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยให้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งและคำพิพากษาใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย(ลูกหนี้) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2531ลูกหนี้ที่ 2 ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2532
ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2534 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่า ลูกหนี้ที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 ล้มละลายตามมาตรา 60แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 60
ลูกหนี้ที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ลูกหนี้ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ลูกหนี้ที่ 2 ฎีกาว่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา 130(1)-(7) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 รวมทั้งจำนวนหนี้ที่จะต้องชำระร้อยละห้าสิบ ต้องทราบจำนวนหนี้สุทธิที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งสิ้นเท่าใดก่อนลูกหนี้ที่ 2 จึงสามารถชำระให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แต่เมื่อหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3ยังไม่ถึงที่สุด จึงยังไม่อาจคำนวณเงินสุทธิที่ลูกหนี้ที่ 2ต้องชำระได้ ลูกหนี้ที่ 2 มิได้ผิดเงื่อนไขการประนอมหนี้คำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และคำพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 ล้มละลายไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ที่ 2 และที่ลูกหนี้ที่ 2ขอแก้ไขซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแล้วนั้น มีความว่าข้อ 1. ลูกหนี้ที่ 2 ยอมชำระค่าใช้จ่าย และหนี้สินตามมาตรา 130(1)-(7) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 โดยเต็มจำนวนและในทันที เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ข้อ 2. นอกจากหนี้ที่กล่าวในข้อ 1 ลูกหนี้ที่ 2 ยอมชำระบรรดาหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้ว เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้มีกำหนดดังนี้ คือ งวดแรกชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ภายในวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน1 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 งวด งวดละเท่า ๆ กันโดยมีกำหนด 4 เดือนต่อ 1 งวด ข้อ 3. หนี้ตามข้อ 1.และ 2. นั้น ลูกหนี้ที่ 2 จะชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ที่ 2 เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2532 และปรากฏว่ามีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 10 รายซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้วจำนวน 9 ราย แม้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้>รายที่ 3 คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นเพียงทำให้ไม่สามารถคำนวณค่าธรรมเนียมตามมาตรา 130(4) กับจำนวนเงินที่ต้องชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ข้อ 1. และข้อ 2. เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 นี้เท่านั้น แต่สำหรับค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา 130(1)-(7) และจำนวนที่ต้องชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งเก้ารายซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้ว มิใช่ไม่อาจคำนวณได้ดังที่ลูกหนี้ที่ 2ฎีกาแต่อย่างใด และหากต้องรอให้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทุกรายถึงที่สุดก่อนย่อมไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ใน ราย ที่คดีถึงที่สุดซึ่งจะทำให้ได้รับชำระหนี้ล่าช้าออกไปทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อตกลงในการประนอมหนี้ซึ่งกำหนดเวลาการชำระหนี้ไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้น ลูกหนี้ที่ 2จะนำเหตุที่คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3ยังไม่ถึงที่สุดมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้เสียทั้งหมดเลยหาได้ไม่ ทั้งเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ที่ 2นำเงินค่าธรรมเนียมและเงินที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ไปวางชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 2 ก็ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการวางเงินโดยอ้างว่ากำลังรวบรวมเงินอยู่ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้โอกาสให้เลื่อนการวางเงินออกไปตามที่ลูกหนี้ที่ 2 ขอแต่เมื่อครบกำหนดแล้วลูกหนี้ที่ 2 กลับเพิกเฉยเสีย ย่อมเป็นข้อแสดงว่าลูกหนี้ที่ 2 ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ถือได้ว่าลูกหนี้ที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 60 วรรคแรก ฎีกาข้อนี้ของลูกหนี้ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ที่ลูกหนี้ที่ 2 ฎีกาต่อมาอีกว่า การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งและคำพิพากษาไปโดยปิดหมายแจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาน้อยกว่า 15 วัน เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสองมีผลทำให้การอ่านคำสั่งและคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายถือว่ายังไม่มีการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 ฟังชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งและคำพิพากษาใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งและคำพิพากษาวันที่ 24 มีนาคม 2535 เวลา 13.30 นาฬิกาพนักงานเดินหมายไปส่งหมายนัดให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 เมื่อวันที่16 มีนาคม 2535 โดยการปิดหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสองซึ่งนำมาใช้ในคดีล้มละลายโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ด้วยได้ บัญญัติว่า”การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีอื่นแทนนั้น ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่เวลาที่คำคู่ความหรือเอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้ หรือการโฆษณาหรือวิธีการอื่นใดตามที่ศาลสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว” ปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งและคำพิพากษาในวันนัดไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2 มาฟังคำสั่งและคำพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งลับหลังลูกหนี้ที่ 2 โดยระยะเวลานับแต่วันปิดหมายถึงวันอ่านคำสั่งและคำพิพากษาเป็นเวลาน้อยกว่า15 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 แม้จะมีผลที่ให้ถือว่าลูกหนี้ที่ 2 ทราบวันนัดอ่านคำสั่งและคำพิพากษาไม่ได้ และถือว่าลูกหนี้ที่ 2 ยังไม่ทราบคำสั่งและคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นได้อ่านนั้นก็ตาม แต่การที่ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2535 ลูกหนี้ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ ย่อมแสดงว่าลูกหนี้ที่ 2 ได้ทราบคำสั่งและคำพิพากษานั้นแล้วลูกหนี้ที่ 2 จึงไม่ได้รับผลเสียหายใด ๆ จากการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาที่ผิดระเบียบนั้นเลย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโดยให้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งและคำพิพากษาใหม่
พิพากษายืน